

หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จกับยอดปล่อยกู้ สำหรับโครการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ซอฟท์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในเร็วๆ นี้ ธปท.เตรียมที่จะปรับปรุง เพิ่มเติมเงื่อนไขการขอสินเชื่อซอฟท์โลนใหม่ เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้สินเชื่อซอฟท์โลนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขอสินเชื่อเพื่อใช้ในการปรับปรุงธุรกิจให้สามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค หลังจากยุคโควิด-19
ทั้งนี้ เหตุผลที่ ธปท.มีแนวคิดจะยกเครื่องซอฟท์โลนนั้น มีหลายเหตุผล เหตุผลแรกคือ ยังมียอดวงเงินสินเชื่อเหลืออีกมาก ในขณะที่แสียงสะท้อนจากบรรดาเอสเอ็มอี ระบุว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อปรับปรุงการผลิต เพราะสถานการณ์ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง
นอกจากนั้น คุณสมบัติของผู้กู้ และอายุของเงินกู้ ยังไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้เป็นแหล่งเงินในการปรับโครงสร้างธุรกิจของเอสเอ็มอี เพราะอยู่ในวงจำกัด และอายุของเงินกู้สั้นเกินไป
ทั้งนี้ จากยอดวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท ที่ตั้งเอาไว้ในโครงการแรก จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มาขอใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าวเพียง 71,008 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 118,970 ล้านบาท หรือประมาณ 21% ของวงเงินสินเชื่อรวมเท่านั้น
โดยเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ หากคิดเป็นจำนวนราย พบว่า เอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อ 0-20 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่เข้ามาขอสินเชื่อซอฟท์โลนมากที่สุด คิดเป็น 76.1% ของผู้ขอสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่มีเอสเอ็มอีรายใหญ่เข้ามาขอสินเชื่อเพียง 6.4% ของผู้ขอสินเชื่อเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากคิดเป็นวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย ของเอสเอ็มอีที่เข้ามาขอสินเชื่อซอฟท์โลนทั้งหมด วงเงินเฉลี่ยในการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนโครงการแรกนี้อยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อรายเท่านั้น
ดังนั้น หลังจากจบ “ซอฟท์โลน” โครงการแรกในวันที่ 22 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ธปท.ได้เสนอต่อโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำโครงการดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 22 เม.ย.ปีหน้่า และจะปรับเงื่อนไขซอฟท์โลนให้ตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีมากขึ้น
โดยข้อเสนอที่จะถูกเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของผู้ที่มีสิทธิกู้เงิน ซึ่งเดิมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไม่สามารถที่จะขอกู้ได้ แต่เนื่องจาก พบว่า มีบริษัทในตลาดหุ้น MAI จำนวนหนึ่งที่เป็น “เอสเอ็มอี” ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินราคาถูกเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และปรับปรุงกิจการ และตัวสินค้า ซึ่งควรจะได้รับการขยายเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้กู้ให้
รวมทั้ง เงื่อนไขการกู้เงินที่กำหนดให้ดอกเบี้ยผ่อนปรน 2% ในช่วง 2 ปีของโครงการ แต่หลัง 2 ปีผ่านไป ธนาคารพาณิชย์อาจกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยปกติ และหากเอสเอ็มอีไม่สามารถรับมืออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาส่งหนี้ไม่ได้หลังจากครบ 2 ปี หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และลูกหนี้ส่วนนี้อาจจะกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีปัญหา กรณีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ ซึ่งเอสเอ็มอีจำนวนมาก ไม่มีหลักประกันมาวางเพิ่มขึ้น หรือคำสั่งซื้อที่เข้ามามากเพียงพอในขณะนี้ ทำให้ขอสินเชื่อใหม่ไม่ได้
ซึ่งทั้งสองอาจจะปรับเงื่อนไขให้ บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาเป็นตัวรับความเสี่ยงในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ในระยะเวลาหนึ่งที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วง 5 -8 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีมีแหล่งทุนเพียงพอที่จะปรับโครงสร้างการผลิต และธุรกิจเพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal
ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่า หากไม่ได้มีการปรับโครงสร้างของเอสเอ็มอี จะมีเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอสมควรไปต่อไม่ได้ และอาจจะต้องปิดกิจการ และกระทบให้เกิดคนว่างงานเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2564
โดยคาดว่า ธปท.จะมีการประกาศต่ออายุโครงการ 6 เดือน และปรับเงื่อนไขโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนดังกล่าวในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาโครงการ และปรับเงื่อนไขปรับปรุงซอฟท์โลนดังกล่าวนั้น เป็นหนึ่งงานฝากที่ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธปท. ได้ปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกันกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบัน เพื่อสานต่อการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกัน ธปท.ยุค ดร.เศรษฐพุฒิ กำลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือในด้านสินเขื่อ และสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมอีกหลายมาตรการ ที่เตรียมจะออกมาในเร็วๆนี้