สมาคมภัตตาคารไทยขอความชัดเจนหลังหมดคำสั่งห้ามนั่งในร้านอาหารครบ 14 วันแล้วจะเอายังไงต่อ

  • ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ
  • ชี้ไม่มีสายป่านยาวเกินกว่านี้ได้อีกแล้ว
  • ขอเยียวยาค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าร้าน

ให้รัฐคุมค่าส่วนแบ่งรายได้ของเดลิเวอรี่
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อนำเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ร้านอาหารได้ปฏิบัติตามคำสั่งศบค.เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 ที่ห้ามนั่งรับประทานในร้านเป็นเวลา 14 วัน อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารไม่สามารถที่จะมีสายป่านยาวเกินกว่านี้ได้อีกแล้วจึงขอความชัดเจนว่า จะสามารถเปิดให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้อย่างแน่นอน หากสถานการณ์ยังรุนแรงต่อไป และนายกฯจะมีความชัดเจนในการเยียวยาพวกเราหรือไม่ เนื่องจากมาตรการที่ออกมาเยียวยาประชาชนทั้งประเทศตามมติ ครม. เมื่อวันพุธที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา นั้นมิได้ตรงกับสิ่งที่ร้องขอไป ทั้งที่ร้านอาหารมีผลต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจมหภาค และมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน รายได้จากการขายเดลิเวอรี่ยังไม่สามารถทดแทนรายได้หลักได้
ดังนั้น สมาคมภัตตาคารไทย จึงขอนำเสนอมาตรการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แบ่งกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้ 1. ความช่วยเหลือด้านภาระต้นทุน ค่าใช้จ่าย ทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าเช่าร้าน เนื่องเพราะขาดรายได้จากการงดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน และมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เงินทุน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านค่าแรงงาน

ขอให้ทางประกันสังคมอนุมัติให้ลูกจ้าง ซึ่งถูกลดเวลาการทำงาน ลดเงินเดือน หรือหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างเนื่องจากคำสั่ง ศบค. สามารถเบิกประกันสังคมได้ 50 % ของค่าจ้างรายวันโดยทันที

ส่วนที่ 2 ความช่วยเหลือด้านการขาย รายได้ ขออนุญาตให้ภัตตาคาร ร้านอาหารที่เป็นนิติบุคคล สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกโครงการของรัฐบาลได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง, ไทยชนะ, ม.33 และมีมาตรการควบคุมค่าส่วนแบ่งการขาย หรือ GP จากแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ปัจจุบันที่อัตราสูงจนเกิดภาระไม่คุ้มทุนของฝั่งร้านอาหาร หรือรัฐช่วย รวมทั้งขอให้หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งงบประมาณในการจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับหน่วยงาน-เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น โรงพยาบาลสนามตามจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจน ขอให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ช่วยกันลงขันจ้างร้านอาหารในท้องถิ่นทำอาหารกล่องเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนในระบบ รักษาสภาพการจ้างงานพนักงานในร้านอาหาร