ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “แก๊งโกงจัดซื้อถุงมือยาง” 22 คน

  • ทั้งเจ้าหน้าที่อคส.-ผู้บริหารในบอร์ดอคส.-เอกชนที่เกี่ยวข้อง
  • ถูกชี้มูลความผิดทั้งคดีอาญา แพ่ง และโทษทางวินัย
  • ผอ.อคส.ลั่นถูกดำเนินคดีทุกคน และถูกยึดทรัพย์แน่

 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.66 มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อถุงมือยางระหว่างอคส. และบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช เป็นการปลดล็อกที่สำคัญอย่างมาก และช่วยฝ่ายที่ไล่จับคนผิดมาลงโทษและติดตามเงินคืน เพราะที่ผ่านมา อคส.ได้รับแรงกดดันแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายที่ร่วมกันกระทำความผิดยังลอยนวล

 สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ มี 3 ทางคือ 1.ฟ้องแพ่ง (ฟ้องความรับผิดทางละเมิด) เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกชี้มูลคามผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นตรวจสอบของกระทรวงการคลัง หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ที่อคส.ได้ตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาความรับผิดทางละเมิดแล้วเสร็จ และส่งให้กระทรวงการคลัง หน่วยงานกำกับดูแลพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 พิจารณาต่อแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา  

2.ฟ้องอาญาทุจริต ผู้ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด และ3.ฟ้องอาญาฟอกเงินและแพ่ง ผู้ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด ซึ่งอคส. ได้ประสาน ป.ป.ช เพื่อขอข้อมูลการชี้มูลแล้ว จากนั้นจะส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการ รวมถึงอายัดบัญชีจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเป็นเงินที่อคส.ได้จ่ายเป็นค่ามัดจำล่วงหน้าการผลิตถุงมือยางให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ รวม 2,000 ล้านบาท

 “ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช ทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้สำเร็จ และสุดท้าย ขอขอบคุณนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ให้การสนับสนุนและกำชับให้จัดการอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมด ผมคงยืนระยะจนถึงวันนี้ไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากท่าน ในการจัดการคนโกงบ้านโกงเมือง”

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้รวม 22 คน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ  1.กลุ่มผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ใน อคส.ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 3 ราย ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง 2.กลุ่มผู้บริหารในคณะกรรมการ (บอร์ด) อคส. 1 ราย ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้านแรง และ3.กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง 18 ราย ถูกชี้มูลความผิดอาญา และในจำนวนนี้มี 1 รายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงเพิ่มอีก 1 ฐานความผิด

อย่างไรก็ตาม สำหรับพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการอคส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 ราย ที่ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรงนั้น ให้ส่งรายงาน สำนวนไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัย 

ส่วนเจ้าหน้าที่ อคส. อีก 2 ราย คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ ที่ถูกชี้มูลคามผิดทางอาญาและวินัยร้าแรงนั้น ก่อนหน้านี้ อคส.มีคำสั่งลงโทษไล่ออกไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยอีก ขณะที่ผู้บริหารในบอร์ดอคส. ที่ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรง ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาด ดังนั้น ขณะนี้ ผู้ถูกชี้มูลความผิดทุกคนยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์  

สำหรับคดีทุจริตจัดซื้อถุงยางนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 63 ช่วงที่พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ ดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้อำนวยการ อคส. ได้ร่วมกับเอกชนหลายราย ดำเนินโครงการจัดซื้อถุงมือยางเทียม 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท และนำเงินของอคส. 2,000 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่ามัดจำให้กับการ์เดียนโกลฟส์ ผู้รับจ้างผลิต 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนายเกรียงศักดิ์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการอคส.คนใหม่ ได้พบความไม่ชอบมาพากลทางบัญชี จึงตรวจสอบอย่างละเอียด และพบการทุจริต จึงร้องเรียนต่อป.ป.ช. และปปง. ในเดือนก.ย.63  หลังจากป.ป.ช.รับเรื่องจากอคส.ได้แล้วเริ่มดำสืบสวนสอบสวน และเดือนต.ค.63 ได้อายัดบัญชีของการ์เดียนโกลฟส์ แต่เงินค่ามัดจำได้ถูกยักย้ายถ่ายเทไปส่วนใหญ่ ทำให้อายัดได้ไม่มากนัก จากนั้นเดือนพ.ค.64 ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกเกี่ยวข้อง และสืบสวนสอบสวนต่อจนนำมาซึ่งการชี้มูลความผิดทั้ง 22 ราย หลังจากนี้ จะส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อไป

ขณะที่อคส. หลังจากร้องเรียนป.ป.ช. และปปง.แล้ว ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบมีเจ้าหน้าที่อคส.เกี่ยวข้องด้วย จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และได้ไล่ออกผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย อีกทั้งยังตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด โดยพบความเสียหายของอคส. 2,003.77 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย มีเจ้าหน้าที่อคส.ต้องชดใช้ความเสียหาย 7 ราย ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อให้กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่กำกับดูแลพ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่รัฐ พิจารณาแล้วตั้งแต่เดือนก.พ.65