ทีทีอาร์ เตรียมนำทัพนักธรกิจบุก บังกลาเทศ

ทีทีอาร์ เตรียมนำทัพนักธรกิจบุก บังกลาเทศ
ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ทีทีอาร์ เตรียมนำทัพนักธรกิจบุก บังกลาเทศ

“ดร. นลินี ทวีสิน” สานต่อความร่วมมือ การค้า-การลงทุน หารือทูต บังกลาเทศ พร้อมนำนักธุรกิจไทย บุกตลาด บังกลาเทศ

นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย หารือเอกอัครราชทูต บังกลาเทศ
นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย หารือเอกอัครราชทูต บังกลาเทศ

ดร. นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย หารือ เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ เตรียมนำคณะนักธุรกิจไทย เยือนบังกลาเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อ ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ฝ่ายบังกลาเทศ เล็งเห็นจุดเด่นของไทย ที่จะช่วยสร้างความหลากหลายให้เศรษฐกิจของบังกลาเทศ เผยบังกลาเทศมีความพร้อมรับการลงทุนจากไทยในหลายด้าน

ภายหลังจากเชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 – 29 เมษายน 2567 และได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น

ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าเป็น 2 พันล้านเหรียญ

ทั้งสองฝ่าย ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เป็น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย ให้ผู้แทนการค้าไทย (นางนลินี ทวีสิน) และ เอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (นางมาฆวดี สุมิตรเหมาะ) นำคณะภาคเอกชนไทย ไปสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจที่บังกลาเทศ เพื่อหาทางรักษาตลาด และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร พลังงาน สินค้าฮาลาล ท่องเที่ยว สุขภาพ และโลจิสติกส์ โดยฝ่ายบังกลาเทศได้เชิญให้คณะภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่ Cox’s Bazar ซึ่งถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของบังกลาเทศ

ศักยภาพทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศ: โอกาสใหม่ที่ไทยไม่ควรพลาด

นลินี ทวีสิน
นลินี ทวีสิน

ดร. นลินี ทวีสิน เปิดเผยหลังหารือกับ นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บังกลาเทศได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียใต้ (ประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี) ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ด้วยการพัฒนาในหลายภาคส่วนและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และมีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในเอเชียใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในบังกลาเทศ โดยสินค้าและบริการของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากชาวบังกลาเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว ผลไม้ และสินค้าประมง ซึ่งมีโอกาสสูงในการต่อยอดเข้าสู่ตลาดบังกลาเทศที่มีประชากรมากกว่า 174 ล้านคน 

ดร. นลินี ยังเล่าถึงกำหนดการนำคณะภาคเอกชนไทยเยือนบังกลาเทศอย่างคร่าว ๆ ว่า จะมีการเดินทางไปเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษ Japanese Economic Zone เพื่อศึกษารูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลต่างประเทศด้านการลงทุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ Korean Export Processing Zone (KEPZ) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยบริษัทเอกชนต่างชาติ Cox’s Bazar เมืองท่องเที่ยวที่มีชายหาดยาวที่สุดในโลกเพื่อศึกษาลู่ทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว Sabrang Tourism Park และ Naf Tourism Park และท่าเรือจิตตะกอง (Chittagong Port) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออกสินค้า และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับท่าเรือไทยในฝั่งอันดามัน เช่น ระนอง รวมทั้งยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Matarbari 

ที่จะรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยจะได้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในบังกลาเทศ และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อีกด้วย 

ไทยลงทุนสะสม 1.2 พันล้านเหรียญ

ผู้แทนการค้าไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนไทยได้ลงทุนในบังกลาเทศมานานกว่า 20 ปี รวมมูลค่าสะสมประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีโอกาสด้านการลงทุนอีกมากเพราะรัฐบาลบังกลาเทศกำลังเร่งพัฒนาให้เป็นประเทศรายได้

ปานกลางระดับสูงภายในปี 2474 และมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 100 เขต ภายในปี 2584 นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตบังกลาเทศฯ ได้ย้ำถึงความพร้อมของประเทศในการเปิดรับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนจากไทย

โดยรัฐบาลบังกลาเทศได้เตรียมความพร้อมในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ รวมถึงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าและพลังงาน

และในขณะเดียวกัน รัฐบาลบังกลาเทศได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดขั้นตอนการอนุมัติการลงทุน และการให้ความสะดวกในการทำธุรกรรมทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้บังกลาเทศเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนไทย

ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทีทีอาร์ ผลักดันร่วมมือด้าน การแพทย์ กับคิวบา