เดินหน้าจัดฟีดเดอร์เส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้า”แดง-ม่วง”รับ20บาทตลอดสาย

กระทรวงคมนาคมเตรียมจัดฟีดเดอร์รองรับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ส่งประชาชนถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีม่วง

คมนาคมเดินหน้าจัดฟีดเดอร์รองรับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย สั่งขบ.- บขส.จัด ปรับเส้นทางเชื่อมชุมชน หมู่บ้าน

  • ส่งประชาชนถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีม่วง กลับมาใน 7 วัน 
  • มั่นใจช่วยให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกขึ้น

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการจัดทำฟีดเดอร์ รถสาธารณะเพื่อส่งเสริมการเดินระบบราง ภายใต้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.)บริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด(รฟฟท.)ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง  ที่ประชุมได้ประเมินการนำนโยบาย 20 ตลอดสาย พบว่าหลังจากมีนโยบายทำให้ปริมาณคนใช้บริการเพิ่มขึ้น 20%

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องนโยบายของรัฐบาล จึงได้ให้ ขบ. บขส. ไปพิจารณาที่จะให้รถร่วม บขส.ที่เดินทางจากฝั่งตะวันตก นำผู้โดยสารมาส่งที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ ส่วนฝั่งทิศเหนือ ,และที่มาถนนรังสิตนครนายก เซียร์รังสิต  ให้รถร่วม บขส. มาส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าสีแดง สถานีรังสิต ว่ามีเส้นทางรถร่วม ไหนบ้าง สามารถดำเนินการได้บ้าง และให้กลับมารายงานภายใน 7 วัน

“จากการดำเนินการนโยบายรัฐบาล 20 บาทตลอดสาย กระทรวงคมนาคมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ บขส. ไปดำเนินการจัดระบบเส้นทางเดินรถของ รถร่วม บขส.ที่รับผู้โดยสารมาจากต่างจังหวัดมายัง กทม.ให้มาเชื่อมต่อกับ สถานีรถไฟฟ้าทั้งฝั่ง ตะวันตกของ กทม. และ สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ทางด้านทิศเหนือของ กทม. ให้มาเชื่อมกับสถานี โดยรถร่วม บขส.ที่เดินทางมาจากจังหวัด นครปฐม สุพรรณบุรี และชัยนาท อยุธยา ให้พิจารณานำผู้โดยสารมาส่งที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ ส่วนประชาชนที่โดยสารรถร่วม บขส. มาจากทางทิศเหนือ กทม.ที่มาจาก ถนนรังสิตนครนายก ให้ไปเชื่อมต่อเข้ารถไฟสายสีแดง ที่สถานีรังสิต”

นอกจากนั้นให้นโยบาย ขบ. ไปปรับเส้นทางรถเมล์ ขสมก. รถที่วิ่งจากสถาบันการศึกษา หรือ รถที่วิ่งให้บริการในชุมชน หมู่บ้าน  ให้ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีบางบำหรุ ของรถไฟสายสีแดง ที่ปัจจุบันสถานีอยู่ในเส้นทางที่รถเมล์ ขสมก. ไม่เข้าถึงโดยตรง ดังนั้นจึงให้พิจารณา เส้นทางมาเชื่อมต่อ เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากขึ้น  อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อฟีดเดอร์จากชุมชนมายังสถานีรถไฟฟ้าก็เพื่อลดปริมาณรถที่จะเดินทางเข้าเมือง และเพิ่มความถี่รถฟีดเดอร์ให้เข้าสถานีถี่มากขึ้นเช่นจาก 30 นาทีเป็นทุก 10นาที ซึ่งจากการทดลองฟีดเอร์เส้นทางจากมหาวิทยาลัยรังสิต หรือ จากหมู่บ้านเมืองเอก ไปยังสถานีหลักหก พบว่าจากเดิมมีคนใช้บริการฟีดเดอร์ 1,000 คน ได้เพิ่มเป็น 1500 คน ทำให้เห็นว่า ฟีดเดอร์ตอบโจทย์ดังนั้นจึงมีนโยบายให้พิจารณามีฟีดเดอร์ ทุกสาย ในการเชื่อมชุมชนมายังเมือง