“สุรพงษ์”ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหารางจ่ายไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีชมพูร่วง

“สุรพงษ์”ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหารางจ่ายไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วง  ชี้มีรถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ขร. จะลงตรวจสอบความปลอดภัยและความพร้อมในการเปิดให้บริการก่อนอีกครั้ง 

  • ชี้มีรถยนต์ที่จอดใต้สถานี 3 คันเสียหาย
  • ขร. จะลงตรวจสอบความปลอดภัย
  • ความพร้อมในการเปิดให้บริการก่อนอีกครั้ง 

เมื่อเวลา   15.30 น. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)  นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS

ได้ร่วมลงพื้นที่กับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ในกรณีรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน (ไม่ใช่รางรถไฟฟ้าที่รองรับล้อเหล็ก) และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเวลา 04.45 น. ที่ผ่านมา บริเวณสถานีสามัคคี (PK04)

นายสุรพงษ์  เผยว่า กรมการขนส่งทางรางได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้  เริ่มต้นจากขบวนรถตรวจสอบความพร้อมเส้นทางก่อนเปิดให้บริการ (หมายเลข PM40) กำลังเคลื่อนที่เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินรถไฟฟ้าก่อนเวลาเปิดให้บริการ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างสถานีสนามบินน้ำ (PK03)กับสถานีแคราย(PK02) ฝั่งมุ่งหน้าไปศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เกิดรางนำไฟฟ้าที่อยู่ด้านข้างคานทางวิ่ง (Guide Beam)ฝั่งด้านนอกหลุดร่วง ทำให้รถไฟฟ้าเกิดการเบรกฉุกเฉิน ดังนั้นจึงได้ทำการตัดกระแสไฟรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีแยกปากเกร็ด (PK06) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01)

โดยศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าได้แจ้งให้ทุกสถานีรับทราบแผนการเดินรถสำรอง  พร้อมกับเร่งดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการตัดไฟ  การจัดการจราจร การตั้งเสาไฟฟ้า และสายไฟบริเวณดังกล่าว รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่เพื่อนำรถยนต์ที่เสียหายออกจากพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นจะทำการถอดรางจ่ายไฟที่ร่วงลงมาวางบริเวณพื้นถนน เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

โดยเบื้องต้นพบว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น คาดว่าเป็นผลจากการดึง sheet pile ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณใกล้เคียงออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถไปกระแทกส่งผลใหเกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนที่หลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้า ขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีรถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด และมีเสาไฟฟ้าล้ม กับโคมไฟใต้ทางรถไฟฟ้าเสียหาย โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด

ทั้งนี้ จากเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถ จึงมีความจำเป็นต้องปิดให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (ช่วงระหว่างทดลองเดินรถไฟฟ้า) ทุกสถานีชั่วคราวในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ รางจ่ายกระเเสไฟฟ้าร่วงหล่น เพื่อความปลอดภัย และการตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียดหากมีความคืบหน้าจะเเจ้งให้ทราบต่อไปและจะทยอยนำส่งผู้โดยสารที่ติดค้างอยู่ในระบบจนถึงปลายทางให้ครบทุกขบวน และเมื่อไม่มีผู้โดยสารตกค้างในระบบแล้วจะทำการปิดการให้บริการรถไฟฟ้าทุกสถานี 

สำหรับการเปิดให้บริการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอีกครั้งได้ในวันพรุ่งนี้ (25ธ.ค.66) โดยเปิดให้บริการเดินรถเพียง 23 สถานี ระหว่างสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30) และในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) จะดำเนินการซ่อมบำรุงและติดตั้งรางนำไฟฟ้าประเมินเบื้องต้น 7 วัน และซึ่งต้องรอการประเมินการแก้ไขอีกครั้งว่าจะกระทบต่อการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์หรือไม่

ทั้งนี้ ขร. จะลงมาตรวจสอบความปลอดภัยและความพร้อมในการเปิดให้บริการก่อนอีกครั้ง  เพื่อความมั่นใจ และกำชับให้มีการเดินขบวนรถตรวจสอบความพร้อมเส้นทางโดยวิ่งสำรวจตอนตี 4 ก่อนเปิดให้บริการทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูถึงปลอดภัยตลอดการเดินทาง 

นายสุรพงษ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุทันที

เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ตรวจสอบรางนำไฟฟ้าตลอดเส้นทาง รวมทั้งให้บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการ รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง  ระยะทาง 30.4 กม. จำนวน 23 สถานีตรวจสอบรางนำไฟฟ้าด้วย  จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ขร. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กันพื้นที่ด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ พร้อมตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก