จากให้ “คันเบ็ด” สู่Biodiversity Credit : New S-Curve “แม่ฟ้าหลวง”

จากให้ “คันเบ็ด” สู่Biodiversity Credit : New S-Curve “แม่ฟ้าหลวง” คุยกับ คุณดุ๊ก – ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • บารมี ความเก่ง ของผมมีไม่เท่าพ่อ
  • แต่ผมยกมือไหว้คนเก่งกว่าพ่อ

ทริปของนักข่าวกลุ่มเล็กๆแต่มากด้วยอายุและประสบการณ์ ส่วนมากทำงานข่าวประจำอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางการบริหารของประเทศ จากที่เคยสัมภาษณ์คนที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ครานี้ขอขึ้นดอยไปสัมผัสชีวิตคนไทยพื้นบ้านชายขอบของประเทศกันบ้าง   

การเดินทางครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เป็นหนึ่งในหลายๆครั้ง ที่ทั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำพาผู้สื่อข่าวไปเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึง การพัฒนาในรูปแบบที่ให้คันเบ็ด ไม่ได้ให้ปลา และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น และเราเรียกสิ่งนั้นโดยรวมว่า “ความยั่งยืน”

ที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคือ “คุณชายดิศ” หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ที่ถือธงนำหน้า ขึ้นเหนือล่องใต้ ทำงานด้านพัฒนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยตัวจริงเสียงจริง หลายครั้งที่เห็นคุณชายดิศเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ยังไม่ยอมหยุด กินยา สั่งน้ำมูกแล้วเดินทางไปทำงานต่อ เรียกได้ว่าสนุกกับงานจนลืมวัย ลืมอายุ

กินง่าย อยู่ง่าย ชาวบ้านกินอยู่อย่างไร คุณชายดิศก็อยู่และกินแบบนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่คุณชายดิศจะเข้าไปนั่งในกลางใจผู้คนมากมาย

รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ที่เป็นเอกลักษณ์ เวลาคุยกับชาวบ้านหรือนักข่าว ยังดังกังวานอยู่ในโสตประสาทเสมอ ความมุ่งมั่น ตั้งใจ บวกกับการลงมือทำอย่างชาญฉลาด และมีกลยุทธ์ ล้วนทำให้ฟันเฟืองการพัฒนาน้อยใหญ่ยังหมุนทำหน้าที่ของตัวเองขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เสมอ

แม้วันนี้คุณชายดิศ จะไม่อยู่ขับเคลื่อนงานพัฒนาด้วยตัวเอง แต่คุณชายดิศก็ได้ปลูกถ่ายดีเอ็นเอ ให้กับนักพัฒนาอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือหน่อเนื้อเชื้อไข คุณดุ๊ก – ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

คุณชายดิศมองการณ์ไกล พาคุณดุ๊กเข้ามาเรียนรู้งานนานพอที่จะซึมซับการทำงานด้านการพัฒนา รวมทั้งเรียนรู้วิธีการและแนวคิดของพ่อ บวกกับความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ตามเทรนด์ของโลกและนำมาปรับใช้ต่อยอดขับเคลื่อนงานพัฒนาในรูปแบบที่ก้าวไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จากรากฐานที่คุณชายดิศสร้างเอาไว้

เรียกได้ว่า เป็น New S-Curve ก็อาจจะไม่ผิดเพี้ยน เพราะโครงการพัฒนาดอยตุงหรือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องคาร์บอนเครดิต และความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity credits มาระยะหนึ่งแล้ว จนมายืนแถวหน้า ไม่ได้มีแค่กาแฟ แมคคาเดเมีย ผ้าไหม ผ้าทอพื้นเมืองอีกต่อไป

“คุณดุ๊ก” เล่าว่า ทุกวันนี้สิ่งที่กลัวคือ กลัวลืมรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาของพ่อ ที่นำมาปรับใช้ได้เสมอ เวลามีปัญหาจะย้อนกลับไปคิดว่า ถ้าเป็นพ่อที่เจอปัญหาแบบนี้ พ่อจะแก้ปัญหาอย่างไร และอีกสิ่งที่กลัว คือกลัวจะเสียชื่อพ่อที่สร้างเอาไว้ สะท้อนให้เห็นว่าพ่อ-ลูกคู่นี้ มีดีเอ็นเอ การทำงานที่ไม่หยุดนิ่งตรงกัน และคิดการณ์ไกล หรือที่ภาษาไทยเรียกสวยๆว่า มี “วิสัยทัศน์” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Vision ภาษาญี่ปุ่นเรียก ビジョン ภาษาเอสโตเนียเรียก Nägemus

“คุณดุ๊ก” แสดง Nägemus เป็นภาษาไทยให้ฟังว่า แต่ละธุรกิจของโครงการพัฒนาดอยตุง(พื้นที่ทรงงาน)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ไม่ได้มีเป้าหมายที่เหมือนกันทั้งหมด บางธุรกิจยอมให้ขาดทุนได้ บางธุรกิจสามารถเลี้ยงตัวเองได้ บางธุรกิจก็สามารถที่จะกำหนดให้เป็น “เดอะแบก” และก็มานั่งดูกันว่า ธุรกิจใดที่จะเป็น “เดอะแบก” ระดับซูเปอร์

“อย่างธุรกิจอาหาร กาแฟ สามารถไปต่อได้ เป็น “เดอะแบก” ได้ ส่วนหัตถกรรม เลี้ยงตัวเองได้ มีกำไรแต่ไม่มาก ขณะที่เกษตร ไม่มีกำไรแต่ก็ต้องทำเพราะเป็นการเลี้ยงคน ช่วยเหลือชาวบ้าน  ส่วนท่องเที่ยวก็ขึ้นกับฤดูกาล และวงจรในแต่ละปี ที่น่าสนใจมาก และเป็นเดอะแบกได้อีกตัวก็คือ คาร์บอนเครดิต เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประชุมแทบทุกเวทีต้องพูดและหาวิธีจัดการเรื่องนี้ รวมไปถึงการกีดกันทางการค้าที่นำเรื่องผลกระทบต่อสภาพอากาศมาเป็นข้ออ้าง ถ้าเอกชนไม่ปรับตัวจะเจอการกีดกันทางการค้าแน่นอน และจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง”

สิ่งสำคัญคือการนำจุดแข็งของโครงการพัฒนาดอยตุง หรือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มาเป็นจุดขายได้ นั่นคือเรื่องป่า การมีข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับพื้นที่ป่า ก็สามารถนำมาขายคาร์บอนเครดิตให้เอกชนได้ เป็นคู่ค้ากัน

พื้นที่ป่าในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ แบ่งเป็นดังนี้ ป่าอนุรักษ์ 60,816 ไร่, ป่าเศรษฐกิจ 33,758 ไร่, พื้นที่ทำกิน 8,259 ไร่, ป่าใช้สอย 3,466 ไร่ และที่อยู่อาศัย 3,190 ไร่

การดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทำมาแล้ว  3 ปี (ปี2564-2566) ครอบคลุมพื้นที่ 192,646 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 127 แห่ง ประชาชนเข้าร่วมจำนวน 24,325 ครัวเรือน 71,834 คน ภาคธุรกิจเข้าร่วมแล้ว 20 ราย มียอดเงินในกองทุน 66,400,107 บาท

สำหรับในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ 4 มีแผนขยายพื้นที่อีก 150,000 ไร่ ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และแม่ฮ่องสอน มีผู้ได้รับผลประโยชน์รวม 72,000 คน และคาดว่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตปีละ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

พื้นที่ป่าชุมชนมีประมาณ 6 ล้านไร่ ถ้าเป็นส่วนที่ดีประมาณ 25% ก็จะมีพื้นที่ป่าที่นำมาจัดการคาร์บอนเครดิตได้ 1.5 ล้านไร่  ตอนนี้ภาคเอกชนติดต่อกันเข้ามาจำนวนมาก เพราะต้องการคาร์บอนเครดิตกัน เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ในอนาคต

นอกจากนั้นที่ขยับขั้นสูงไปกว่าคาร์บอนเครดิตอีก คือเรื่อง Biodiversity credits หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไม่คิดเฉพาะป่าไม้เท่านั้น แต่จะดูทั้งระบบ เช่น สัตว์ป่า สัตว์หายาก เห็ด แมลง นก ที่โลกจะต้องอนุรักษ์ความหลากหลายเอาไว้ และเชื่อได้เลยว่าจะขายได้ราคามากกว่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งระดับนานาชาติกำลังจะทำตัวชี้วัดขึ้นมา เพื่อเป็นค่ากลางในการประเมิน หาค่าเปรียบเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง เพราะแต่ละพื้นที่ของโลกใบนี้มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปแต่ละแห่ง     

ดอยตุงกำลังทำข้อมูลของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ สำรวจสัตว์ป่า สัตว์น้ำ พันธุ์ไม้ พบสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง ซึ่งสำรวจมา 2 ปีแล้ว เพื่อดูว่า จากดอยตุงที่เป็นเขาหัวโล้น ปลูกป่าจนเขียวขจีมา 30 ปีแล้วมีความสมบูรณ์ขนาดไหน และเข้ากับกระแสของโลกพอดี ถือได้ว่าดอยตุงมาก่อนกาล เมื่อมีไบโอเครดิตเกิดขึ้น คนจะดูแลพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

คาดว่า 5 ปี ข้างหน้า องค์กรจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความยั่งยืน เป็น Institute หรือแปลเป็นไทยว่า เป็นสถาบัน อยู่ได้ด้วยตัวเอง เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน และอยู่ได้โดยไม่ต้องมี “ดิศกุล” ถึงตอนนั้นก็จะเกษียณตัวเองได้แล้ว ให้องค์กรขับเคลื่อนไปด้วยตัวเอง

“วันนี้ดาวเหนือของเรามีชัดแล้ว  แนวทางมีแล้ว แต่ก็จะต้องมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน พลิกแพลง จะปรับตัวเร็วหรือช้าอยู่ที่ข้อมูล ผมวางแผนโดยให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงอยู่ได้โดยไม่มีผม ภายใน 5 ปี ซึ่งถือเป็นความท้าทายและความสนุก”

“คุณดุ๊ก” ทิ้งท้ายไว้ว่า “บารมี ความเก่ง ของผมมีไม่เท่าพ่อ แต่ผมยกมือไหว้คนเก่งกว่าพ่อ การติดต่อคน หาคนมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ชิพ มากกว่าที่จะไปแข่งขันกัน และการสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม”