ส่องซอฟต์พาวเวอร์ของไทยผ่านเลนส์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

ส่องซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ผ่าน บัญญัติสิบประการตามหลักการของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวถึงต้นกำเนิดของนโยบายเศรษฐกิจ BCGว่า มีมาตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันที่จริงแล้ว BCG ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-Economy, เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ล้วนมีการศึกษาและดำเนินการมาแล้วอย่างแพร่หลายทั่วโลก

หากแต่ว่าการนำเศรษฐกิจทั้งสามเรื่องมาประสานกัน โดยดึงเอาจุดเด่นของประเทศไทย ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มาเป็นฐานเชื่อมโยงประเทศไทยไปสู่โลก และเสริมด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนกลายเป็น BCG Economy Model ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น

นับเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ไม่มีที่ใดในโลกมาก่อน ดังจะเห็นได้จากเสียงสะท้อนเชิงบวกจากเวทีนานาชาติ เมื่อ ดร.สุวิทย์ ได้นำเสนอนโยบายดังกล่าว ทั้งใน STS Forum ที่ประเทศญี่ปุ่น และการหารือโต๊ะกลมกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจำนวนกว่า 20 ชาติ รวมทั้งคณะผู้แทนทางการค้าจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า BCG Economy Model นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2565 จะมีการตอบรับ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ Bangkok Goals on BCG Economy เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและของโลกอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้วยแนวทางที่เป็นสากล BCG Economy Model ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นแนวนโยบายที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จในอดีต เช่น นโยบายโชติช่วงชัชวาล ซึ่งก่อกำเนิดโครงการ Eastern Seaboard ที่ยกระดับประเทศไทยจากประเทศด้อยพัฒนามาเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ในที่สุด

ดังนั้น รัฐบาลไทยควรมีความมุ่งมั่นดำเนินการนโยบายอย่างต่อเนื่อง สร้างเสริมและต่อยอดทุนทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ในที่สุด

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ ได้นำเสนอบัญญัติสิบประการของ BCG Economy Model ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนประเทศได้ ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง BCG เป็นกลไกผลักดันประเทศรูปแบบใหม่ที่อาศัยฐานความพร้อมของประเทศไทย (ทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มีอยู่) ด้วยความจำเป็นที่ต้องตั้งเป้าหมายให้ประเทศหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (stuck in the middle) ดังนั้น  BCG จึงเป็นกลไกที่เชื่อมโยง (bridge) ระหว่างทรัพยากร (resource) ที่เราพอมี กับเทคโนโลยีที่เราก็พอมี เกิดเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ที่ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของประเทศ

ประการที่สอง BCG เป็น common platform ที่เชื่อมโยงระหว่าง common goal ของโลก คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) และ common value คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP)

ประการที่สาม BCG เป็น Model ที่ใช้แก้ปัญหาเร่งด่วนหลายปัญหาพร้อมกันได้  โลกขณะนี้ กำลังเผชิญกับปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญสี่ประการ ได้แก่ 1) sustainability (ความยั่งยืน) 2) equity (ความเท่าเทียม) 3) progress (ความเจริญรุ่งเรือง) และ 4) human security (ความมั่นคงของมนุษย์) ความท้าทายของการแก้ปัญหาข้างต้น คือการตอบโจทย์ของโลกทั้งสี่เรื่องในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ในสถานการณ์นี้ “ไม่มีที่ว่างสำหรับฝันเล็กๆ” (no room for small dream) ซึ่ง BCG เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการถักทอแก้ปัญหาตอบโจทย์ทั้งสี่เรื่องเข้าด้วยกัน

ประการที่สี่ BCG เป็นโมเดลที่ผสมผสานกันของ comparative advantages ที่ประเทศมี ได้แก่ ความได้เปรียบด้านทรัพยากร และ competitive advantage ซึ่งได้แก่ เทคโนโลยีและภูมิปัญญา ที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน (sustainable growth)  นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่เป็นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยมูลค่าเพิ่ม (value added economy) ไปเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการสร้างคุณค่า(value creation economy) โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม (innovation) ด้วยเป้าหมายให้ทำน้อยแต่ได้มาก (less for more)

ประการที่ห้า BCG โมเดลนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human capital development) ภายใต้นโยบาย ความชัดเจนของทิศทาง และการจัดการที่ดี นำไปสู่การผสมผสานอย่างลงตัวระหว่าง  manpower และ brainpower

ประการที่หก BCG โมเดลตอบโจทย์ความต้องการในทุกระดับ (Inclusiveness) การพัฒนาสาขาเศรษฐกิจทั้ง 4 สาขา (เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ดังแสดงในรูปที่ 1 มีทั้งในส่วนของฐานปิรามิด ที่มุ่งเน้นวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ในส่วนกลางของปิรามิด มุ่งเน้นบริษัท SMEs และยอดของปิรามิดมุ่งเน้นบริษัทรายใหญ่ และผู้ที่มีความพร้อมสูง สามารถได้ประโยชน์จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างนวัตกรรม

การสร้างมูลค่าใน 4 อุตสาหกรรมหลัก BCG โดยเอื้อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

รูปที่ 1 : การสร้างมูลค่าใน 4 อุตสาหกรรมหลัก BCG โดยเอื้อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

ประการที่เจ็ด BCG เป็นโมเดลที่มีลักษณะเป็น multi-dimension ไม่ได้เน้นตอบโจทย์สาขาอุตสาหกรรม หรือ sectoral based  เท่านั้น แต่ยังเน้นตอบโจทย์ชุมชน หรือ community based การพัฒนาพื้นที่ และยังมุ่งหวังให้ตอบโจทย์ career based ที่เป็นเป้าหมายของกระทรวง อว. อีกด้วย

ประการที่แปด BCG เป็นยุทธวิธี (strategic pragmatism) เพื่อให้สามารถระบุลำดับความสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ ยุทธวิธีการพัฒนาประเทศไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์  แต่เป็นการจัดกลุ่มใหม่ (clustering) ที่ทำให้การทำงาน สามารถเก็บเกี่ยวผลได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มที่มีความพร้อมสูง (มีความพร้อมอยู่มากกว่า 80 %) และเติมอีก 20%  สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ในกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น quick win

2) กลุ่มที่ความพร้อมประมาณครึ่งหนึ่ง (50 %) ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม และต้องรอระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว

3) กลุ่มที่มีความพร้อมแค่ 20 % แต่ต้องมีการลงทุนหรือติดตามเพราะเป็นสิ่งที่เมื่อสำเร็จจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น synthetic biology และ AI

ประการที่เก้า BCG ขับเคลื่อนโดยอาศัยกลไก 4 แรงขับเคลื่อน ร่วมกับ 4 การส่งเสริม (4 Drivers X 4 Enablers) โดย4 แรงขับเคลื่อน ได้แก่ (1) การพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ (2) การเตรียมกำลังคนเชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ (3)การพัฒนาเชิงพื้นที่ และ (4) การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า

ส่วน 4 การส่งเสริม ได้แก่ (1) การปลดล็อกข้อจำกัด (2) การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก (3) การสร้างความสามารถของกำลังคน และ (4) เครือข่ายต่างประเทศ ดังแสดงในรูปที่ 2

กลไกการขับเคลื่อนโดยอาศัย 4 แรงขับเคลื่อน ร่วมกับ 4 การส่งเสริม (4 Drivers X 4 Enablers)

รูปที่ 2 : กลไกการขับเคลื่อนโดยอาศัย 4 แรงขับเคลื่อน ร่วมกับ 4 การส่งเสริม (4 Drivers X 4 Enablers)

ประการที่สิบ BCG เป็น “Soft Power” ที่แท้จริงของประเทศไทย BCG เป็นการตั้งโจทย์ให้โลก เช่น ทำอย่างไรให้ sustainability มั่นคงและยืนยาว ทำอย่างไรให้กลยุทธ์ตอบโจทย์ความต้องการ ด้วยวิสัยทัศน์ (vision) และความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่ง (strong commitment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความท้าทาย

ทั้งที่เป็น policy dilemma และ/หรือ momentum of change และ/หรือ short term loss but long term gain โดย BCG เป็นจุดที่ทำให้นานาประเทศอยากเข้ามาทำงานร่วมกับประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้ BCG ไปเป็นต้นแบบของโลกในเวทีการประชุมผู้นำเอเปค

ทั้งนี้  BCG มีความสำคัญใน 2 แกน คือ แกนแรก คือ การก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโลก (Globalization) และแกนที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและพื้นที่ไปพร้อมกัน (Localization) ด้วยเหตุนี้ ทำให้อาจกล่าวได้ว่า BCG เป็น Soft Power ที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน (Regional leader) และเป็นผู้นำของโลกได้ต่อไปในเรื่องที่เราทำได้ดี

ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและความต่อเนื่อง เรามีความเชื่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาได้ด้วยความสามารถของคนไทย ตามนโยบาย BCG อย่างแน่นอน