SME D Bank เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยว ลุยปั้น “เบตงหมื่นล้าน” เผยครึ่งปีแรกพาผู้ประกอบการถึงแหล่งทุนกว่า 3.2 หมื่นล้าน

  • ลุยวางแผนบูมเศรษฐกิจท้องถิ่น หวังพลิกฟื้นธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ช่วยเติมทุน เสริมสภาพคล่อง
  • ชูจับมือหน่วยงานพันธมิตร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ยกโมเดลปั้น “เบตงหมื่นล้าน” เติบโตยั่งยืน
  • โชว์ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ของปี 65 เติมทุนให้เอสเอ็มอีไทยกว่า 32,000 ล้านบาท
  • เผยตั้งเป้าทั้งปี 65 สนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนทะลุ 60,000 ล้านบาท

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องให้กลับมาเดินหน้าธุรกิจได้เต็มศักยภาพ โดยทาง ธพว. ได้ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งสนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเข้าถึงมาตรการ “เติมทุนคู่พัฒนา” เพื่อช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ ให้กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  โดยออก “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงิน 2,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อ SMEs Re-Start นับจากเริ่มโครงการเมื่อ มี.ค.65 – ก.ค.65 มียอดยื่นกู้แล้วมากกว่า 860 รายวงเงินมากกว่า 1,500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเต็มจำนวนวงเงินภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งทางธนาคารกำลังขยายวงเงินให้กู้เพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่า เอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง มีโอกาสกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ดีอีกครั้ง

น.ส.นารถนารี กล่าวต่อว่า สำหรับความช่วยเหลือด้านการเงิน สินเชื่อ SMEs Re-Start เป็นหนึ่งในการสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ ธพว. พาเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาลมาแล้ว ด้วย “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy Loan) และ “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash”  รวมแล้วนับตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน ธพว. สนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งทุนไปแล้วเป็นวงเงินมากกว่า 60,000 ล้านบาท จำนวนมากกว่า 30,000 ราย  

“แนวทางการสนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวนั้น  ธพว. ใช้กระบวนการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะรู้จักและเข้าใจความต้องการผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นอย่างดี ก่อประโยชน์ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากท้องถิ่น สร้างการเติบโตอย่างเหมาะสมและยั่งยืนได้” น.ส. นารถนารี กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด ธพว. ได้ร่วมมือกับ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผลักดันโครงการ “เบตงหมื่นล้าน” ส่งเสริมเอสเอ็มอีท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ยกระดับเพิ่มศักยภาพธุรกิจ รองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมถึง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการพาเข้าถึงแหล่งทุนสินเชื่อ

อีกทั้งรวมถึง ต่อยอดพาเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยว และมัคคุเทศก์ในท้องถิ่น เข้าถึงกิจกรรมพัฒนาเติมความรู้ เพื่อยกระดับธุรกิจและอาชีพ เช่น การตลาด ลดต้นทุนธุรกิจ เป็นต้น ช่วยปรับตัวรองรับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่กำลังจะเติบโตในอนาคต อีกทั้งจับมือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านขายสินค้าที่ระลึก จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่าน E-book “โปรดี๊ดี เอสเอ็มอีทั่วไทย” ที่สามารถดาวน์โหลดใช้บริการได้ฟรีที่หน้าเว็บไซต์ของธพว. www.smebank.co.th

“ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 63 เป็นต้นมา ธพว.ยืนหยัดเคียงข้างดูแลเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด ทำหน้าที่เป็นมากกว่าสถาบันการเงิน ทั้งพาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควบคู่กับมีกระบวนการด้านการพัฒนา ยกระดับ เพิ่มศักยภาพธุรกิจช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเดินหน้ากิจการได้ด้วยดีอีกครั้ง”  น.ส.นารถนารี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลดำเนินงานของธนาคารช่วง 6 เดือนแรกของปี 65 ธนาคารทำได้ตามเป้าหมาย สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว 7,500 ราย วงเงินกว่า 32,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 146,000 ล้านบาท ควบคู่กับช่วยด้านการพัฒนายกระดับธุรกิจ ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่น โครงการเติมความรู้ ขยายตลาด จับคู่ธุรกิจ และพาเข้าโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ทางธนาคารได้กำหนดเป้าหมายตลอดปี 65 จะสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท ควบคู่การสนับสนุนด้านการพัฒนากว่า 21,000 ราย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ อ.เบตง จ.ยะลา ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าหาโอกาสไปเยือน เพราะยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแหล่งเดินทางไม่ไกลกันมาก โดยปัจจุบันสามารถเดินทางมาทางเครื่องบินโดยสารได้ โดยบินตรงลงที่สนามบินเบตงได้เลย ซึ่งเปิดให้บริการเป็นทางการเมื่อช่วง มี.ค.65 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีสายการบินนกแอร์ ให้บริการอยู่เส้นทางท่าอากาศยานดอนเมืองกรุงเทพฯ – เบตง – กรุงเทพฯ โดยมีไฟล์ทบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง  

สำหรับไฮไลท์ ของการมาเที่ยวเบตง อยู่ที่การชมทะเลหมอกที่สกายวอร์ค อัยเยอร์เวง การล่องเรือชมธรรมชาติในป่าฮาลาบาลา แวะเกาะทวดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดพุทธาธิวาส วัดคู่บ้านคู่เมืองเบตงรวมถึงการได้ลิ้มลองอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น อาทิ ไก่เบตง เป็นต้น