“เพชรบูรณ์” โมเดลนำร่อง ‘Healthy Cities MODELs’

“สันติ” ชูจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโมเดลนำร่อง ‘Healthy Cities MODELs’ สร้างอัตลักษณ์ Soft power ด้านสุขภาพ เพิ่มรายได้ชุมชน – เศรษฐกิจประเทศ

  • เดินหน้ายกระดับมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร
  • เชื่อมโยงธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

วันนี้ (26 มกราคม 2567) ที่ หอประชุม 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดครั้งแรก ”มหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์“ (Good Health @Phetchabun) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2567 โดยมี พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารจังหวัดเพชรบูรณ์  ภาคีเครือข่าย  และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมงานกว่า 3,000 คน

นายสันติ  กล่าวว่า  เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศและสร้างงานให้กับประชาชน  กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ผลักดันให้มีการพัฒนาเมืองต้นแบบสุขภาพ (Healthy Cities MODELs) “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน” เป็นต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone)  ในทุกจังหวัด  นอกจากจะมุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการกินดี อยู่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ

สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Healthy Cities MODELs แล้ว 20 ชุมชน  ซึ่งเป็นโมเดลขับเคลื่อน Healthy Cities MODELs   และอยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือกชุมชนต้นแบบอีก 10 แห่ง ซึ่งจะเร่งขยายให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยเฉพาะการเป็นโมเดลต้นแบบการถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ,นวดแผนไทย ,สมุนไพรไทย, อาหารไทย  จากกระทรวงสาธารณสุขให้กับ อสม.  เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาในชุมชน 

ทั้งนี้กรมอนามัย ได้มอบป้าย SAN Certificate  “สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน” สำหรับสถานประกอบการทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และอาหารริมบาทวิถี ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขาภิบาล ขณะที่ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP/SMEs) ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร  หากผ่านการรับรองแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  จะมอบตราสัญลักษณ์ DMSc product ให้กับสินค้านวัตกรรม เพื่อแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ในการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

ส่วนกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ต่อยอดการพัฒนา “ศูนย์เวลเนส” ที่มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ที่พักนักท่องเที่ยว (โรงแรม/รีสอร์ท) 2.ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3.ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 4.สปาเพื่อสุขภาพ และ 5.สถานพยาบาล ให้เป็น “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย (TWD)” ที่มีการนำอัตลักษณ์ไทยและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นมาผสมผสานกับองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีศูนย์เวลเนส 11 แห่ง ได้รับการรับรองแล้ว 3 แห่ง และมีแผนจะรับรองเวลเนสอัตลักษณ์ไทย 4 แห่ง

ปิดท้ายงาน นายสันติ  พร้อมเชฟจากมาสเตอร์เชฟ  ได้นำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์มาทำเมนูชูสุขภาพ “ยำขนมจีนเส้นสี อกไกฉีกวิเชียรบุรี“ และ ”สลัดโรลกุ้งสด“ 

“ในปี 2567 มีเป้าหมายจะขยายไปยังชุมชนในจังหวัดต่างๆ ให้มากที่สุด ตามศักภาพของบุคลากรทางการแพทย์  โดยในปีนี้ได้มีการของบประมาณเพิ่มแพทย์อีก 30,000 คน  เพื่อลดการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่“