รมช.คลัง โต้ “พิธา” ยันที่ดินราชพัสดุให้ประชาชนใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง

รมช.คลัง โต้ “พิธา” ชี้ ที่ดินราชพัสดุให้ประชาชนใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง มีการจัดการสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ทั้งยังสืบทอดถึงทายาท และช่วยแก้ข้อพิพาทรัฐ-ประชาชนอย่างยั่งยืน

  • มีการจัดการสาธารณูปโภค
  • เพื่ออำนวยความสะดวก
  • ช่วยแก้ข้อพิพาทรัฐ-ประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังปัญหาที่ดินจากชาวบ้านหนองวัวซอ เพื่อนำไปเป็นแนวทางแก้ไขและผลักดันในสภาฯ โดยได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินว่า ในประเทศไทยเป็นที่ดินของรัฐบาลเยอะ เป็นที่ดินของราชการเยอะ ในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ 60 % เป็นของรัฐบาล 40% เป็นที่ของประชาชน ซึ่งมีแค่กำมือเดียวเท่านั้น

ถ้าอยากเห็นประเทศพัฒนาเจริญขึ้น ไม่ต้องเป็นหนี้สิน เข้าถึงระบบได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ จะต้องมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะคำว่าสิทธิที่ดินแปลได้หลายอย่าง เป็นสิทธิในการทำกิน ให้เป็นสิทธิในการเช่า เป็นสิทธิในการบริหารจัดการก็ได้

“รัฐบาลให้สิทธิในการเช่าแค่ 3 ปี อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ ผมจะทำร้านก๋วยเตี๋ยว ทาสียังไม่แห้ง เขาจะเอาคืนก็ได้ พ่อแม่พี่น้องจะปลูกมะม่วง สักปีสองปี ถ้าเขาอยากเอาคืน ภายใน 3 ปีเอาคืนได้ ความมั่นคงในชีวิตมันไม่มี แม่นบ่แม่น” นายพิธา กล่าว

ต่อมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ ชี้แจงประเด็นเรื่องสิทธิในการเช่าที่ดิน โดยว่า

“เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนโยบายมอบสิทธิการเช่าที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกินในการดูแลของกรมธนารักษ์ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมรายละเอียดสิทธิประโยชน์ในการเข้าสู่ระบบเช่าของกรมธนารักษ์ดังนี้ครับ

พื้นที่ราชพัสดุถูกจัดสรรให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องและยังไม่เคยเรียกคืนสิทธิการเช่า เว้นพื้นที่ติดภารกิจสำคัญทางราชการ เช่น ภารกิจทางทหารที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ก็จะไม่สามารถให้เช่าได้

ระบบสิทธิการเช่า 3 ปี เป็นการปฎิบัติตามระเบียบของทางราชการ หากจัดให้เช่ามากกว่าสามปี เช่น 30 ปี จะมีการต่ออายุสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่องคราวละ 3 ปี เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิการเช่าจำนวนมาก (ในกรณีเช่าคราวละเกิน 3 ปี)

สิทธิในการเช่าที่ดินราชพัสดุสามารถสืบทอดไปยังทายาทได้ ตั้งแต่ดำเนินการมารัฐยังไม่เคยเรียกคืนสิทธิการเช่า

มีอัตราค่าเช่าที่ต่ำ ดังนี้

สำหรับการเช่าเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน 100 ตารางวา คิดอัตรา 25 สตางค์/ตารางวา/เดือน เกินกว่า 100 ตารางวา คิดอัตราค่าเช่า 50 สตางค์/ตารางวา/เดือน

หากเช่าเพื่อการเกษตร เนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน 50 ไร่ คิดอัตราค่าเช่า 20 บาท/ไร่/ปี เกินกว่า 50 ไร่ คิดอัตราค่าเช่า 30 บาท/ไร่/ปี กรมธนารักษ์จะยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าทั้งหมด ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดทั้งหมด และเรียกเก็บหลักประกันสัญญาเช่าเท่ากับอัตราค่าเช่าเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

ผู้เช่าจะได้รับการอำนวยความสะดวกและการดูแลจากรัฐในฐานะที่ดินเช่า มีการจัดการสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขอทะเบียนบ้าน และการช่วยบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัยต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ในการกำกับดูแลของรัฐโดยตรง

ผู้เช่าสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพราะสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุสามารถนำไปเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคารที่ดำเนินการโดยรัฐได้

เมื่อทำสัญญาเช่าที่ดิน จะมีการยกเว้นค่าเสียหายฐานบุกรุกที่ดินราชพัสดุให้ผู้ได้สิทธิเช่า

เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชนอย่างยั่งยืน

จากความสำเร็จของ ‘หนองวัวซอโมเดล’ ที่จังหวัดอุดรธานี และพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี ผมในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในความร่วมมือของกรมธนารักษ์และกระทรวงกลาโหม ขอเชิญชวนพี่น้องที่สนใจมาเข้าร่วมโครงการกับกรมธนารักษ์กันครับ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและดูแลผู้เช่าที่ดินราชพัสดุ เราตั้งใจจะขยายพื้นที่โครงการเพื่อมอบสิทธิในที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกินแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไปครับ”