‘ซูเปอร์โพล’ชี้ผลสำรวจ 96.9% พบเด็กก่อคดีอาชญากรรมร้ายแรงเพิ่มขึ้น

‘ซูเปอร์โพล’เปิดผลสำรวจพบ 96.9% เด็กก่อคดีอาชญากรรมร้ายแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนหนุนแก้โทษเด็กอายุน้อยที่ก่อคดีอาญาร้ายแรง เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและที่เกี่ยวข้องนี้

  • ประชาชนหนุนแก้โทษเด็กอายุน้อยที่ก่อคดีอาญาร้ายแรง
  • เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน
  • เพื่อแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 21 มกราคม 2567 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง “อาชญากรในเด็ก” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,095 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17 – 20 มกราคม 2567 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.9 ระบุ เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี ก่อคดีอาชญากรรมร้ายแรงเพิ่มขึ้นจริง มีเพียงร้อยละ 3.1 ไม่ทราบ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.4 ระบุไม่เคยโดนเด็กและเยาวชนข่มขู่คุกคามให้หวาดกลัว มีเพียงร้อยละ 5.6 เท่านั้นที่เคยโดนกับตัวเอง

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมายให้เอาผิดเด็กอายุน้อยกรณีทำผิดคดีอาญาร้ายแรง เช่น ข่มขืน การฆ่าคน เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 24.7 ไม่เห็นด้วย

เมื่อถามถึงหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าภาพหลักแก้ไขกฎหมายเอาผิดเด็กอายุน้อยกรณีทำผิดคดีอาญาร้ายแรง เช่น ข่มขืน การฆ่าคน เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.0 ระบุให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ เป็นเจ้าภาพหลักแก้ไขกฎหมายเอาผิดเด็กอายุน้อยกรณีทำผิดคดีอาชญาร้ายแรง

รองลงมาหรือร้อยละ 9.3 ระบุ กระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 7.2 ระบุสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร้อยละ 7.2 เท่ากันระบุกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และร้อยละ 10.3 ระบุอื่น ๆ เช่น ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และอื่น ๆ เป็นต้น

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนแปลงการลงโทษเด็กอายุน้อยที่ก่อคดีอาญาร้ายแรง แต่ส่วนน้อยที่เคยโดนเด็กอายุน้อยมาข่มขู่คุกคามให้ตัวเองหวาดกลัว อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีควรเป็นเจ้าภาพหลักนำสู่การเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดคดีอาญาร้ายแรงนี้ โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กและที่เกี่ยวข้องนี้ขึ้น

เพราะการเพิ่มโทษเอาผิดที่รุนแรงขึ้น อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาเสมอไป การแก้ไขกฎหมายที่ทำให้เกิดการเสริมสร้างการขัดเกลาทางสังคมผ่านคนในครอบครัว คนใกล้ชิด เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี การเปิดพื้นที่ให้โอกาสนำเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดมาเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นคนดีมาเป็นพลังสำคัญของสังคมน่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ดีได้