นายกฯ มุ่งมั่นขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค

ศูนย์กลางการบิน
ชัย วัชรงค์ เปิดเผยว่า นายกฯ มุ่งมั่นขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค


เผยสถิติตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 เพียง 8 เดือน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในไทย 81.05 ล้านคน คมนาคมตั้งเป้าผลักดันสนามบินไทย ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกในปี 2572 พร้อมตั้งเป้ารองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนในปี 2577

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานของไทย ยกระดับมาตรฐาน การให้บริการ และความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศตามมาตรฐานสากล

เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค พร้อมสั่งการกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตด้านคมนาคมทางอากาศ เพิ่มเที่ยวบินอย่างเต็มศักยภาพตามวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขานรับนโยบายตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จัดทำแผนดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศของไทยในทุกมิติ มั่นใจว่าด้วยความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ไทยจะดำเนินการตามมาตรฐานการบิน ขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA CAT1) สามารถเปิดให้บริการ เพิ่มเที่ยวบิน หรือเพิ่มจุดบินใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรฐานด้านการบินของ FAA

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ด้วยศักยภาพ ทรัพยากร และ ความพร้อมของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าแผนขยายขีดความสามารถท่าอากาศยาน พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อ รองรับนักท่องเที่ยว

โดยสามารถ ผลักดันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติด 1 ใน 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2567 ขยับขึ้น 10 อันดับ จากอันดับที่ 68 ประจำปี 2566

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองติดอันดับ 1 ใน 10 สนามบินโลว์คอสต์ที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ประจำปี 2567

และอยู่ระหว่างการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารอีก 81,000 ตารางเมตร และ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงเดือนกันยายน 2567 เพื่อรองรับเที่ยวบินเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

อนึ่ง ภายในปี 2572 ได้ตั้งเป้าหมาย ผลักดันท่าอากาศยาน ของไทยติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินของโลก สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในปี 2577 สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และ เที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

ข้อมูล จากกระทรวงคมนาคม ยังชี้ให้เห็นว่า สถิติตัวเลขผู้โดยสาร ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 มีผู้โดยสาร ใช้บริการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน ของประเทศไทยรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 83.4 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน และ ผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 80.9 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน

“นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาท่าอากาศยานไทยตามวิสัยทัศน์ Aviation Hub ยกระดับ ศักยภาพท่าอากาศยานไทย เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจการบินขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานไทยตั้งเป้าให้ติดระดับท่าอากาศยานระดับโลก ให้สามารถรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก ตอบโจทย์ทุกวัตถุประสงค์การเดินทาง เชื่อมั่นสามารถเพิ่มเม็ดเงินเข้าไทย ขยายโอกาสประเทศ” นายชัย กล่าว

ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : AOT ฉลอง 45 ปี โชว์แผนลงทุนใหม่แสนล้าน “อันดามัน-ล้านนา”