

คาดมูลค่า Plant-Based Food ปีนี้ถึง 45,000 ล้านบาท หนุนนักลงไทย เร่งลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ หนุนเศรษฐกิจยั่งยืน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวง พาณิชย์ กล่าวภายหลัง งานสัมมนา นำเสนอผลการจัดทำภาพอนาคต สินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ภายใต้ โครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม สวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ดำเนินโครงการฯ เพื่อ ชี้ให้เห็นถึงภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผน และออกแบบนโยบายได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท
สินค้าPlant-Based Food มีแนวโน้มเติบโตเร็ว ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในช่วงปี 2562 – 2567 มูลค่าตลาดPlant-Based Food ทั่วโลก มีอัตราเติบโต เฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ร้อยละ 10.5 และ ในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย Krungthai Compass (2020) คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโต เฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 10 ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของตลาดโลก
โดยมี ปัจจัยขับเคลื่อน มาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ที่ ตระหนักถึง ความสำคัญ ของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมที่มีต่อสัตว์มากขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ประกอบกับในโลกยุคดิจิทัลที่การสื่อสารสะดวกรวดเร็ว เพิ่มการรับรู้และยอมรับสินค้าชนิดใหม่ ๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าPlant-Based Food อาทิ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทางอาหาร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารที่ก้าวหน้า
ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพ ของโลก

จากการศึกษา พบว่า ภาพอนาคตสินค้าPlant-Based Food ของไทย มีหลายฉากทัศน์ ซึ่งฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้ (Probable Future) คือ ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพ ของโลก เป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ภาคการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตPlant-Based Food ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับและสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีอนาคตทางเลือก (Alternative Future) อีก 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1) ฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน คือ การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรที่มีสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของPlant-Based Food ผ่านการจับจ่ายใช้สอย ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
2) ฉากทัศน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ คือ ไทยเป็นแหล่งของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งในประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สามารถต่อยอดไปสู่การส่งออกไป ยังต่างประเทศ และ
3) ฉากทัศน์ของสินค้าอาหารแปรรูปPlant-Based Food ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ไทย มีความสมบูรณ์และยั่งยืน มีภาคการเกษตรที่ทันสมัย รองรับความต้องการPlant-Based Food ที่เพิ่มขึ้น ในตลาดโลก ตอบสนองต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารPlant-Based Food ไทย ยังคงต้องได้รับการส่งเสริม และพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิตและแปรรูป ด้านการตลาด ด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านฐานข้อมูล ด้านการลงทุน และด้านกฎหมาย
เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอาหารPlant-Based Food ที่สำคัญของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘เนสท์เล่’ ปั้นแบรนด์ ‘ฮาร์เวสต์ กูร์เมต์’ บุกตลาด Plant-based Food ตั้งเป้าสร้าง brand awareness ว่าอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพ มีโภชนาการและรสชาติอร่อย