

รัฐบาล เชิญชวนร่วมท่องเที่ยวและเฉลิมฉลองที่ ภูพระบาท จ. อุดรธานี ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยรัฐบาลเปิดให้เข้าชม ภูพระบาท ฟรี ตั้งแต่วันนี้ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 พร้อมเดินหน้าผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 รวมทั้งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567
ถือเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อเป็นการร่วมชื่นชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก และให้ประชาชนคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลอง
กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม 28 ก.ค. – 12 ส.ค. 2567
กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม ตั้งแต่วันนี้ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 ทั้งนี้ รัฐบาลคำนึงถึงการอนุรักษ์และพัฒนามรดกสำคัญของชาติ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยว จัดทำแผนบริหารการจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ และต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสีมาในประเทศไทย รวมทั้ง การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม ภายหลังการได้รับประกาศเป็นมรดกโลก
ไทยนําเสนออีก 5 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก
พร้อมกันนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งมรดกโลก ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทย ได้นําเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกที่รอการสนับสนุน และผลักดันเข้าสู่บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่
1. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555)
2. อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558)
3. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560)
4. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562)
5. สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567) โดยล่าสุดเพิ่งได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ในการประชุมที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เช่นเดียวกัน
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญชวน ประชาชน ร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองที่ภูพระบาทฯ ได้รับการประกาศ เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ของไทย ถือเป็น อีกความสำเร็จ ตามนโยบาย เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ ด้านวัฒนธรรม ควบคู่ ไปกับการอนุรักษ์ และพัฒนา ซึ่ง ความสำเร็จครั้งนี้ ถือว่ารัฐบาล ได้ส่งเสริมศักยภาพ มรดกทางวัฒนธรรม ที่สำคัญ ของประเทศไทย ให้ได้รับการยกย่อง เป็นมรดกโลก เป็นอีกเครื่องยืนยัน ถึงความสามารถ ในการอนุรักษ์สถานที่สำคัญ เป็นเอกลักษณ์ และ เป็นประจักษ์พยาน อันโดดเด่นของ วัฒนธรรมไทย ที่ได้รับ การรักษา และสืบทอดมาอย่างยาวนาน” นายชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไทยเสนอ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโกในปีนี้