ไทยเสนอ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโกในปีนี้

ต้มยำกุ้งเตรียมขึ้นทะเบียนยูเนสโก
รมว.สุดาวรรณ จัดทำแผนปีนี้ เตรียมลุ้น “ต้มยำกุ้ง - ชุดเคบาย่า”ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก เดินหน้าผลักดันSoft Power ไทย


รมว.สุดาวรรณ จัดทำแผนปีนี้ เตรียมลุ้น “ต้มยำกุ้ง – ชุดเคบาย่า”ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก เดินหน้าผลักดันSoft Power ไทยให้นานาชาติรู้จัก

ยูเนสโก ต้มยำกุ้ง
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

30 มิ.ย. 67 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม นำโดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดและระดับประเทศทุกปี และมีการเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติและได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกแล้ว  4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และประเพณี“สงกรานต์ในประเทศไทย” 

ปีนี้มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย 2 รายการ  ได้แก่ “ต้มยำกุ้ง”และชุด“เคบาย่า” ซึ่งชุด“เคบาย่า”ประเทศไทยได้เสนอร่วมกับมาเลเซีย  บูรไนดารุสซาลาม อินโดนีเซียและสิงคโปร์ จะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 วันที่ 2-7 ธันวาคม 2567  ณ สาธารณรัฐปารากวัย และได้เสนอ“ชุดไทย”และ“มวยไทย” รวมทั้ง“ผ้าขาวม้า”เพื่อเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกด้วย 

สั่งทำแผนสิบปีล่วงหน้า

“รมว.สุดาวรรณ ได้ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสที่ต้มยำกุ้งและชุดเคบาย่า ได้เข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกในปีนี้ รวมถึงจัดทำแผนล่วงหน้า 10 ปีในการเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ก็ให้จัดทำรายละเอียดทั้งประเภทและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อส่งเสริมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและ Soft Power ด้านต่างๆของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับนานาชาติ”

น.ส.เกณิกา กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการส่งเสริม Soft Power นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น อาหารไทย งานหัตถกรรม งานเทศกาลประเพณีมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ Soft Power ด้านต่าง ๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับนานาชาติ

ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บพท.ดันเชียงใหม่-ลำปางปี 66 สู่เมืองเรียนรู้โลกของยูเนสโก้ ผนึก 2 พลังใหญ่ “ความรู้-พลเมือง” ดีไซน์พื้นที่ชีวิตกินอยู่ดีมีสุข