

ครม. อนุมัติในหลักการตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ NaCGA วางระบบค้ำประกันสินเชื่อประเทศใหม่ จ่อส่งร่างกฎหมายเข้า ครม.ใน 4 เดือนข้างหน้า “เผ่าภูมิ” ชี้ช่วยประชาชน-เอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ส่วนการควบรวมกับ บสย.อาจเป็นไปได้แต่ต้องดูแนวทางที่เหมาะสม
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (13 ส.ค.) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแนวคิดการจัดตั้งองค์กรการค้ำประกันเครดิต General Credit Guarantee Facility (GCGF) Concept Paper โดยจัดตั้งเป็น “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA) เพื่อเป็นกลไก การค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่
โดยในหลักการทำงานผู้กู้จะจ่ายค่าธรรมเนียมคล้ายกับการซื้อประกันโดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่ง ตามระดับความเสี่ยงของผู้กู้ ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการสินเชื่อ ตั้งแต่สินเชื่อรายย่อยไปจนถึงสินเชื่อธุรกิจ
รัฐบาลจะจัดทำกฎหมายใหม่ร่วมกับ ธปท.ให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน
โดยขั้นตอนต่อไปรัฐบาลจะมีจัดทำกฎหมายใหม่ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน โดยสถานะ NaCGA ของบริษัทเหมือนกับบริษัทประกันความเสี่ยงแต่เป็นการค้ำประกันความเสี่ยงทางด้านการเงิน หากซื้อประกันแล้วมีการผิดนัดชำระหนี้ NaCGA จะเป็นหน่วยงานที่ชำระความเสียหายให้กับสถาบันการเงิน
“NaCGA จะเป็นหน่วยงานใหม่ที่มีหลักการในการทำงานค้ำประกันสินเชื่อแบบใหม่จากเดิมที่ประชาชนหรือธุรกิจรายย่อยที่จะขออนุมัติสินเชื่อแทนที่จะเดินไปที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันความเสี่ยงก็ให้เดินมาที่NaCGA ก่อนเพื่อประเมินความเสี่ยงและคิดค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันความเสี่ยงแล้วออกใบประกันความเสี่ยงให้ และถือใบประกันความเสี่ยงไปที่สถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ ทำให้ประชาชนรายย่อย และเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นด้วย” นายเผ่าภูมิกล่าว
ทั้งนี้แหล่งเงินที่NaCGA จะใช้เป็นแหล่งเงินในการค้ำประกันจะมาจาก 3 แหล่ง 1.เงินที่รัฐบาลสมทบ 2.แหล่งเงินที่เก็บจากสถาบันการเงิน และ 3.รายได้จากค่าธรรมเนียมจากคนที่มาขอสินเชื่อ ซึ่งค่าธรรมเนียมจะถูกเพราะสนับสนุนโดยภาครัฐ แต่รัฐไม่ต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
อาจควบรวมให้ บสย.เป็นหน่วยงานระยะต้นที่จะแปรสภาพเป็น NaCGA
ส่วนการดำเนินงานของบสย.ในระยะต่อไปสามารถเป็นได้ทั้งรูปแบบการทำงานร่วมกับNaCGA หรืออาจจะควบรวมโดยให้ บสย.เป็นหน่วยงานระยะต้นที่จะแปรสภาพเป็นNaCGA ในระยะต่อไป โดยสามารถโอนหน่วยงานกันได้หรืออาจจะทำเป็นหน่วยงาน 2 ขาที่ค้ำประกันสินเชื่อไปด้วยกันได้ “ในภาพรวมก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะควบกันแต่ต้องขอดูรายละเอียดในส่วนของกฎหมายอีกครั้ง”นายเผ่าภูมิ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลังจุดพลุ โครงการ “Ignite Finance” ดันไทยสู่ ศูนย์กลางการเงินโลก