

“พิมพ์ภัทรา” ชี้ฮอนด้าย้ายโรงงานผลิต แค่ปรับปรุงการผลิตภายในลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพโรงงานที่อยุธยาผลิตชิ้นส่วนส่งออกป้อนในประเทศมากขึ้น รับการปรับการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเผชิญ 3 โจทย์ยากทั้งรัฐบาล ผู้ผลิต ผู้บริโภค นโยบายดึงEV ยังจำเป็น หารือ JCC ,เจโทร เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยห่วงต้นทุนเพิ่มหาก เผยสัปดาห์หน้า GAC AION อีกค่านถEV จีนเตรียมเปิดโรงงานในไทยกำลังการผลิต 5 หมื่นคัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ถึงกรณีที่บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ได้ประกาศย้ายโรงงานผลิต และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จากโรงงานที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปโรงงานที่ จังหวัดปราจีนบุรี ว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบ รายงาน เรื่องดังกล่าวแล้ว โดยการย้าย โรงงานในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนที่ ฮอนด้า ได้มีการปรับแผนภายในโดยย้ายโรงงานผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ไปอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีแทน ส่วนโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีอยู่แต่ปรับจากกการผลิตรถยนต์มาเป็นการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนที่ผลิตออกจากโรงงานนี้แทนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“ที่ผ่านมาบริษัท ฮอนด้าฯ ได้มีการย้ายการผลิตส่วนหนึ่งไปแล้วหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศเมื่อปี 2554 และครั้งนี้ก็เห็นว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตไปรวมกันมากกว่า ส่วนหนึ่งก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้นด้วย กรณีของฮอนด้าไม่เหมือนกับอีซุซุ กับซูบารุที่ปิดโรงงานไปก่อนหน้านี้”
รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยด้วยว่าปัจจุบันเป็นช่วงปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งปัญหาความยากในช่วงนี้คือการเผชิญปัญหาทั้งในส่วนของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างรถEV และรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ซึ่งในส่วนของรถEV นั้นถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญในอนาคตทั้งเรื่องการการลงทุนใหม่และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ผู้ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปก็มีความสำคัญมากเพราะเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมากซึ่งกระทรวงมีความเป็นห่วงในส่วนนี้เช่นกัน
ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทุกค่ายก็ได้มีการปรับตัว ขณะที่ค่ายรถยนต์ใหม่ ๆ ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็มีการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ก็มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ แต่ทั้งหมดเชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ในหลาย ๆ ประเภทในอนาคต การจะผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์แต่ละแห่งยังตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ทั้ง ICE และEV สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องหาทางบริหารจัดการจัดการ และหาทางสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่หลากหลายมากขึ้น
เมื่อถามว่าค่ายรถยนต์หลายแห่งมีปัญหาเรื่องยอดขายและกำลังการผลิตในส่วนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะนัดหารือกับผู้ประกอบการหรือไม่นั้น รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่าที่ผ่านมามีการหารือร่วมกันกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ไปแล้ว โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
โดยประเด็นที่ได้มีการหารือกับหน่วยงานของญี่ปุ่นพบว่าประเด็นที่มีการสอบถามจากเอกชนญี่ปุ่นก็คือประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และยูโร 6 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการและค่ายรถเพิ่มขึ้นอีกได้ในอนาคตซึ่งต้องการความชัดเจนและแน่นอนของนโยบายนี้
“ที่ผ่านมาได้คุยกับทางเอกชนญี่ปุ่นไปแล้ว ก็มีข้อเสนอหลายอย่าง ซึ่งรัฐบาลก็กำลังพิจารณา แต่สิ่งที่เป็นห่วงตอนนี้คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับซัพพลายเชน ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีของไทย จึงขอความร่วมมือว่าให้ช่วยเหลือกัน เพราะตอนนี้เทรนความต้องการรถยนต์เปลี่ยนไป โดยอยากให้มองว่า แม้จะมีEV เข้ามา มุมบวกก็มีกับ ICE เหมือนกัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็พยายามหาทางช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้สัปดาห์หน้าจะเดินทางไปร่วมงานเปิดโรงงานรถ EV แบรนด์ GAC AION ซึ่งผลิตรถยนต์EV อีกแห่งที่จะเปิดในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ EV ในภูมิภาคของไทย โดยโรงงานเฟสแรกของ GAC AION มีการลงทุนกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ บาท ด้วยแผนการผลิตจำนวน 50,000 คันแรก โดยจะเป็นโรงงานแห่งแรกของ GAC ที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน และจะผลิตรถยนต์รุ่นพวงมาลัยขวา ในรูปแบบของ Completed Knocked Down
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มย้าย “กากแคดเมียม” ไปฝังกลบที่จ.ตากพรุ่งนี้!