ไทย แซง มาเลเซีย ขึ้นที่ 2 ในอาเซียน,“ขีดความสามารถการแข่งขัน” โดย IMD

สศช.
สศช. เผย ไทย แซง มาเลเซีย ขึ้นที่ 2 ในอาเซียน,“ขีดความสามารถการแข่งขัน” โดย IMD

ครม. รับทราบผลการจัดอันดับ “ขีดความสามารถการแข่งขัน” ปี 2567 โดย IMD จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศไทยรั้งอันดับ 25 ดีขึ้นจาก 30 แซง มาเลเซีย ขึ้นที่ 2 อาเซียน โดยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ดีขึ้นถึง 11 อันดับ

สศช.
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี2567 โดย IMD World Competitiveness Center

โดยในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปีที่แล้ว

สศช.
ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก 2567 โดย IMD

“ได้รายงานให้ที่ประชุมครม.รับทราบถึงผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 แล้ว โดยเป็นข่าวดีที่ไทยอันดับดีขึ้นจนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน

โดยผลการจัดอันดับที่สำคัญ นั่นคือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Performance ของไทย ปรับดีขึ้นถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 16 มาเป็นอันดับที่ 5 โดยความสำคัญส่วนหนึ่งมากจากการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้น และในปีก่อนดุลบัญชีเดินสะพัดก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย” นายดนุชา กล่าว

สศช.
ผลการจัดอันดับของประเทศไทย ปี 2563-2567

ไทยปรับดีขึ้น 5 อันดับแต่คะแนนสุทธิลดลง

ทั้งนี้ในภาพรวมของการจัดอันดับของ IMD ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปีที่แล้ว โดยแซงมาเลเซียขึ้นเป็นที่ 2 ของอาเซียน

แต่เมื่อพิจารณาผลคะแนนสุทธิของไทยลดลงจาก 74.54 คะแนน มาอยู่ที่ 72.51 คะแนน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่ในปีนี้มีภาพรวมผลคะแนนสุทธิลดลง

สศช.
ผลการจัดอันดับรายปัจจัยของไทย (67 เขตเศรษฐกิจ)

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาปัจจัยใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายละเอียดที่สำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2566 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 ในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 23 อันดับ จากอันดับ 29 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 6 ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ จากอันดับที่ 44 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 39

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐไม่เปลี่ยนแปลง

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับจากปีที่แล้ว โดยปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้น คือการคลังภาครัฐ (Public Finance) ปรับ อันดับดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัย ย่อยคือ นโยบายภาษี (Tax Policy) อันดับ 8 และกรอบการบริหารสังคม (Societal Framework) อันดับ 47 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 2 ปัจจัยย่อยคือ กรอบ การบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) ลดลง 5 อันดับ จากอันดับ 34 มาอยู่ที่อันดับ 39 และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ลดลง 8 อันดับ จากอันดับ 31 มาอยู่ที่อันดับ 39

โดยตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยนี้ที่มีมูลค่าที่ดีขึ้นจากปีก่อนอย่างมากคือ ตัวชี้วัด Exchange rate stability และตัวชี้วัด Government budget surplus/deficit (%)

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่ เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด Exchange rate stability อันดับ 5 และตัวชี้วัด Employer social security tax rate อันดับ 9

ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อย 3 อันดับ

ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมปรับอันดับดีขึ้นจากปี 2566 เล็กน้อย 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 ในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการบริหารจัดการ (Management Practices) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 22 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 15 และทัศนคติและค่านิยม (Attitudes & Values) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปี ก่อนเล็กน้อย 1 อันดับ จากอันดับ 19 มาอยู่ที่อันดับ 18

โดยในปีนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด Total early-stage entrepreneurial activity อันดับ 4 ตัวชี้วัด Labor force (%) อันดับ 5 ตัวชี้วัด Labor force – long-term growth อันดับ 7 ตัวชี้วัด Customer satisfaction อันดับ 8 และตัวชี้วัด National culture อันดับ 9

โครงสร้างพื้นฐานไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่แล้ว โดยไม่มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะที่ มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัย ย่อยคือ โครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) อันดับ 25 และ การศึกษา (Education) อันดับ 54 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 3 ปัจจัยย่อย คือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน (Basic Infrastructure) ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 22 มาอยู่ที่ อันดับ 23 โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) ลดลง 1 อันดับ จาก อันดับ 39 มาอยู่ที่อันดับ 40 และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (Health & Environment) ลดลง 2 อันดับ จากอันดับ 53 มาอยู่ที่อันดับ 55

โดยตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยนี้ที่มีมูลค่าที่ดีขึ้นจากปี ก่อนคือ ตัวชี้วัด Population – growth ตัวชี้วัด Students who are not low achievers – PISA และตัวชี้วัด Total public expenditure on education

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ ตัวชี้วัด Internet bandwidth อันดับ 8 และตัวชี้วัด Investment in Telecommunications อันดับ 8

สศช.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สศช. เตือนหนี้เสียพุ่งในสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท