สาธารณสุข แนะวิธีปฏิบัติตัวของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5

“สุรชาติ เทียนทอง” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5

  • เช็คค่าฝุ่นได้ผ่านแอป Air4Thai
  • สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
  • ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน

นายสุรชาติ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ในหลายพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5 ดังนี้

1. ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ที่ Application Air4Thai หรือ Life Dee และปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้ 
 สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 – 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 
– เลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก สังเกตอาการตนเอง 
 สีส้ม (37.6 – 75.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ สีแดง (75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป) 
– ควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 
2. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยอาจะใช้ หน้ากาก N95 ต้องเลือกที่มีขนาดเหมาะ แนบกระชับกับใบหน้า ครอบจมูกและใต้คางได้อย่างมิดชิด  หรือหน้ากากอนามัย
3. เลี่ยงการไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง หรือลดระยะการอยู่นอกอาคาร 
4. ปิดประตูหน้า หน้าต่างให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาด และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น
5. ลดกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น

“ประชาชนสามารถมาใช้บริการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นให้บริการเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษาและสถานที่เอกชนจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นร่วมด้วย หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน ได้ที่เวปไซต์ห้องปลอดฝุ่น https://podfoon.anamai.moph.go.th

นายสุรชาติ  กล่าวว่า  จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.67  ซึ่งมีการรายงานว่า จากสถานการณ์ PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก โดยสถานการณ์มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดเท่ากับ 199.0  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจากการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ พบมีแนวโน้มการกำเริบของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ลดการทำงานกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น