บอร์ด EEC นัดต้นก.ค. ถกแก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน”

แก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน”
จุฬา สุขมานพ เผย บอร์ด EEC นัดต้น ก.ค. ถกแก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน”

บอร์ด EEC นัดถกแก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน” เชื่อมสามสนามบิน บอร์ด EEC ขยับไทม์ไลน์สร้างต้นปี 2567

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กพอ. วันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ล่าสุดมีการเจรจาแก้ไขสัญญาแล้ว

ในการประชุม กพอ. ครั้งหน้าต้นเดือน ก.ค. จะหารือถึงผลการเจรจาอีกครั้ง ทั้งนี้ในการพิจารณาผลการหารือการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญา จะสรุปผลการหารือมาเสนอให้กับที่ประชุม กพอ. อีกครั้ง คาดว่าจะประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2567 นี้

เมื่อกพอ. เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขสัญญาแล้ว จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณารับทราบผลการประชุม กพอ.ต่อไป ทั้งนี้หลังจากผ่านการรับทราบในหลักการจาก ครม. แล้ว จากนั้นจะเริ่มเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เมื่อได้ข้อสรุปจะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจ ก่อนส่งให้ กพอ. และ ครม. เห็นชอบตามขั้นตอน และเมื่อครม.เห็นชอบแล้ว สำนักงานฯ จะออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการ (NTP) ภายในเดือนธันวาคม 2567

มติ บอร์ด อีอีซี
มติ บอร์ด อีอีซี

เริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2568

“คาดว่าเอกชนจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2568 “การประชุม กพอ. วันนี้ ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ แต่ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าก่อน เพื่อให้รู้ว่าความก้าวหน้าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง โดยกระบวนการเจรจาระหว่างรฟท.กับเอกชนคู่สัญญา จะต้องทำให้เสร็จและมีการลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนธันวาคม 2567”

นายจุฬา กล่าวว่า ในส่วนของสัญญาฉบับใหม่นั้น เบื้องต้นจะไม่มีเงื่อนไขด้านสิทธิประโยชน์มาเป็นเงื่อนไขในการให้ NTP แต่โดยหลักการแก้ไขปัญหาจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร

โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ 1.การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) โดยรัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน 2.เอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวนค่าก่อสร้าง 3.การแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดยรฟท. ยังคงได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้น

สนามบินอู่ตะเภาฯ จะเปิดให้บริการภายในปี 2572

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าในส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนองานจ้างก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะพิจารณา ข้อเสนอทางเทคนิค ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2567 และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571

ส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 นี้ ทั้งนี้คาดว่า สนามบินอู่ตะเภาฯ จะเปิดให้บริการภายในปี 2572

3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F งานก่อสร้างทางทะเล มีความก้าวหน้าใน ภาพรวม 29.02% โดยพื้นที่ถมทะเล 1 และ 2 ได้ดำเนินการถมแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 อยู่ระหว่างดำเนินการถม คาดว่าจะ เปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F1 ได้ภายในปี 2570

ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดเสร็จปี 2570

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม มีความก้าวหน้า 80.93% งานด้านถมทะเล พื้นที่แปลง LNG Plot (แปลง B) และพื้นที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C) ดำเนินการถม แล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) มีความก้าวหน้า 30.95% โดยท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2570

อนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ..2566 – 2570

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ประชุมที่มีนาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาเห็นชอบร่าง แผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมอบหมายให้ สกพอ. นำเสนอครม. ต่อไป

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง สร้างสมดุลโครงการพัฒนาต่างๆ สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนธุรกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สุริยะ ดันต่อ รถไฟความเร็วสูงไทย – จีน