สนค. เผยผลสำรวจพบคนไทยหันเที่ยวไทยช่วงปีใหม่

สนค.เปิดผลสำรวจ ชี้คนไทยหันเที่ยวไทยช่วงปีใหม่ พบภาคเหนือจุดหมายปลายทางยอดนิยม เข้าเส้นมาอันดับ 1

  • คาดใช้จ่ายเงินไม่เกิน1หมื่นบาทต่อคนต่อทริป
  • แต่กังวลปัญหาจราจรราคาสินค้าและบริการแพง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในประเทศ ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.66 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลองว่า ประชาชนมีแผนท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีผู้ตอบมีแผนท่องเที่ยว 32.19% เพิ่มขึ้นจาก 30.28% ในการสำรวจปี 65 สำหรับผู้ที่มีแผนท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นพนักงานรัฐ พนักงานบริษัท นักศึกษา โดยมีรายได้ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล มีแผนท่องเที่ยวในสัดส่วนมากกว่าครึ่ง คาดว่าอาจเป็นเพราะกำลังซื้อ และรายได้ครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นๆ ส่วนผู้ที่ไม่มีแผนท่องเที่ยว ส่วนใหญ่กังวล 3 เรื่องหลัก เช่นเดียวกับปี 65 คือภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ และไม่ชอบการเดินทาง อย่างไรก็ดี ผู้ตอบบางส่วนซึ่งเป็นผู้ประกอบการพนักงานของรัฐ และมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป มีแผนท่องเที่ยวหลังจากนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 67

สำหรับจุดหมายปลางทางท่องเที่ยวอันดับ 1 คือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง และคาดว่าจะใช้จ่ายเงินเพื่อการเดินทาง อาหาร และที่พักไม่เกิน 10,000 บาท/คน/ทริป เช่นเดียวกับการสำรวจในปี 65 แต่น่าสังเกตว่า ผู้ตอบที่จะใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท/คน/ทริป มีสัดส่วน 33.22% สูงกว่าการสำรวจในปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 26.47% สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้อาศัยในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มท่องเที่ยวในภูมิภาคของตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนถึงความต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบในภาพรวมมีข้อกังวลระหว่างการท่องเที่ยว 3 อันดับแรก คือ การจราจร ระดับราคาสินค้าและบริการที่อาจสูงขึ้นกว่าปกติ และความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยว แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพ ระดับรายได้ และภูมิภาค พบว่า ข้อกังวล 3 เรื่องแรกสอดคล้องกับภาพรวม มีเพียงพนักงานบริษัท และผู้อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่กังวลเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ที่จอดรถ และห้องน้ำ

“ผลสำรวจพบว่า การท่องเที่ยวในประเทศช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 66 มีแนวโน้มคึกคัก ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง ควรเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก ทั้งการจราจร บริหารจัดการพาหนะขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และดูแลสถานที่ท่องเที่ยวให้แออัดน้อยที่สุด”

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความกังวลด้านราคาสินค้าและบริการนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้กำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเทศกาลต่างๆ ที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษ เพื่อให้มีปริมาณสินค้าให้เพียงพอ และราคาเหมาะสม และป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ