อพท. นำเชียงคานคว้าเหรียญเงินโลก แหล่งเที่ยวกรีนแห่งแรกอาเซียน

อพท.ปลื้ม นำ “เชียงคาน” จ.เลย คว้ารางวัลเหรียญเงินโลก Green Destinations Award แห่งแรกในอาเซียน แห่งที่ 3 เอเชีย ใช้เวลากว่า 5 ปี ผนึกทุกภาคส่วนพัฒนาตามเกณฑ์สากล GSTC ครบ 84 ข้อ  เดินหน้าดันแหล่งท่องเที่ยวไทยในชุมชนอีก 3 แห่ง ต่อคิวลุ้นรางวัลโลก

  • อพท. นำแหล่งท่องเที่ยว “เชียงคาน” ขี้นชั้น 1 ใน 122 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก
  • เร่งดันลุ้นรางวัลเพิ่มอีก 3 พื้นที่ “เมืองเก่าสุโขทัย-ในเวียงน่าน-คลองท่อมกระบี่”
  • นำทีมองค์กรท้องถิ่นขึ้นรับรางวัลความสำเร็จใน ITB 2024 เบอร์ลิน เยอรมัน

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “อพท.” เปิดเผยว่า ล่าสุดเชียงคาน จังหวัดเลย เตรียมขึ้นเวทีเหรียญเงินแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Award แห่งแรกในอาเซียน โดยได้การรับรองมาตรฐานจาก Green Destinations เตรียมประกาศในงานเทรดโชว์ใหญ่ของโลก ITB Berlin 2024 ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่กรุงเบอร์ลิน สาธารณรัฐเยอรมันี ซึ่งเป็นผลงานความสำเร็จของ อพท. กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายและชุมชนในพื้นที่ช่วยกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนตามมาตรฐานสากลด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management)

ถือเป็นรางวัล Green Destinations Award แห่งแรกในอาเซียน ขับเคลื่อนโดย อพท. ร่วมยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษสู่มาตรฐานสากล และรางวัลเหรียญเงิน Green Destinations ที่เชียงคานได้รับครั้งนี้มีมาตรฐานเข้มข้นและกว่าจะได้ยากมาก เพราะปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับรางวัลเพียง 122 แหล่ง โดยมีเชียงคาน ของไทยได้แห่งแรกในอาเซียและแหล่งที่ 3 เอเชีย ต่อจากญี่ปุ่นและไต้หวัน  เดือนมีนาคม นี้ อพท. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจะเข้าร่วมรับประกาศนียบัตรการรับรองมาตรฐานฯ อย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน อพท. ยังมีเป้าหมายเดินหน้ายกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอื่น เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับสากลต่อไปอีกอย่างน้อย 3 แห่ง เช่น ตำบลเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย ตำบลในเวียง จ.น่าน และอำเภอคลองท่อม จ.กระบี่

นาวาอากาศเอกอธิคุณ กล่าวว่า เมื่อปี 2562 อพท. ได้คัดเลือกเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทางเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) โดยใช้กลไกขับเคลื่อนขององค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management Organization: DMO) ระดับจังหวัดและเชื่อมโยงสู่ระดับพื้นที่ รวมทั้งได้นำเสนอกรณีการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น “ตักบาตรข้าวเหนียว” ด้วยมีทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่

จากนั้นปี 2563 เชียงคานได้รับการจัดอันดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก : 2020 Sustainable Destinations TOP 100 จาก Green Destinations ก่อตั้งเมื่อปี 2557 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ตลอดโครงการ อพท.ได้ทำอย่างเต็มที่ร่วมกับ 30 หน่วยงาน ยกระดับ “พื้นที่เชียงคาน” อย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จในการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้แนวทางเกณฑ์ GSTC ตามเป้าหมายความยั่งยืนในแผนที่นำทาง (Roadmap) นำเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับสากลกับหน่วยงาน Green Destinations หลังสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 อพท. ร่วมกับเทศบาลตำบลเชียงคานส่งใบสมัครไปยังหน่วยงานดังกล่าวเพื่อนำเชียงคานเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล

กระทั่งวันนี้ได้รับแจ้งจาก Green Destinaitons ถึงผลการประเมินผลให้เชียงคานได้รับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับ Silver Award โดยระบุคุณสมบัติของเชียงคานโดดเด่นด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management) สะท้อนให้เห็นถึงความเข็มแข็งในการบริหารจัดการ ทั้งของ อพท. ที่มีหน้าที่ประสานงาน องค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (DMO) ระดับจังหวัดและท้องถิ่นครบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยสำคัญคือองค์กรภาคประชาชนเพื่อการท่องเที่ยวเชียงคานอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมเป็นเจ้าของ อย่างแท้จริง

ส่วน “เกณฑ์และมาตรฐานเข้มข้นของ Green Destinations” นั้นเป็นโปรแกรมรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวหรือ GSTC-Accredited Certification ระดับรางวัลของแหล่งท่องเที่ยว (Pre-certification benchmark Awards) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน หรือ GSTC-Accredited  โดยให้แหล่งท่องที่ยวจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของมาตรฐานที่มีหลักเกณฑ์ 84 ข้อ  6 หมวด ได้แก่ 1.การจัดการแหล่งท่องเที่ยว 2.ธรรมชาติและทิวทัศน์ 3.สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ 4.วัฒนธรรมและประเพณี 5.ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม และ 6.ธุรกิจและการให้บริการ

เบื้องต้นแหล่งท่องเที่ยวสามารถยื่นขอรับการประเมินรางวัล Green Destinations TOP 100 Stories ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์พื้นฐาน 15 ข้อ ประกาศผลทุกปี มีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้รับรางวัล Green Destinations TOP 100 Stories เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัยตำบลในเวียง จังหวัดน่าน เกาะหมาก จังหวัดตราด และคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ จะพัฒนาและยกระดับแหล่งตามเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้รับรางวัลและการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งมีอยู่ 5 ระดับ คือ

ระดับเหรียญทองแดง (Bronze ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานไม่น้อยกว่า 60% ของเกณฑ์ทั้งหมด หรือ 50 ข้อ) ระดับเหรียญเงิน (Silver ไม่น้อยกว่า 70% หรือ 59 ข้อ) ระดับเหรียญทอง (Gold ไม่น้อยกว่า 80% หรือ 67 ข้อ) ระดับเหรียญทองคำขาว (Platinum 90% หรือ 76 ข้อ) ระดับสุดท้าย การรับรองแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Green Destinations Certified) ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานครบ 100% ทั้ง 84 ข้อ) ถือเป็นการรับรองมาตรฐานเทียบเท่ากับเกณฑ์ GSTC ครบถ้วน -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน