สนพ.คาดปี 67 ยอดใช้พลังงานโต 3.1%

  • จับตาปัจจัยเสี่ยงเอลนีโญ-ภัยแล้งกระทบ 
  • ยอมรับไทยร้อนระอุ ไฟจ่อพีกอีกรอบ  
  • พร้อมเปลี่ยนเป็นเวลากลางคืนเหตุกลางวันใช้ไฟจากโซลาร์

สนพ.เคาะปี 67 ใช้พลังงานโต 3.1% คาดราคาน้ำมันดิบอยู่ในกรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จับตาปัจจัยเสี่ยงเอลนีโญ-ภัยแล้งกระทบ ยอมรับไทยร้อนระอุ ไฟจ่อพีกอีกรอบ ทั้งปีแตะ 3.5 หมื่นเมกฯ พร้อมเปลี่ยนเป็นเวลากลางคืนเหตุกลางวันใช้ไฟจากโซลาร์สูงขึ้น

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.คาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2567 ขยายตัว 3.1% อยู่ที่ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เทียบกับปีก่อนโต 0.8% อยู่ที่ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ทำให้ภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว รวมถึงการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภาครัฐ

โดยแบ่งเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติขยายตัว 2.5% อยู่ที่ 859 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้น้ำมันขยายตัว 3.1% อยู่ที่ 837 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์โต 2.4% อยู่ที่ 296 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าโต 5.4% อยู่ที่ 71 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งปี 2567 ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในช่วง 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยโต 2.2-3.2% เศรษฐกิจโลกโต 2.8% และค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.3-35.3 บาท/เหรียญสหรัฐ เทียบกับปีก่อนราคาน้ำมันตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 82 เหรียญหสรัฐ/บาร์เรล

ทั้งนี้ ต้องติดตามปัจจัยลยจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติและมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดปญหาภัยแล้งส่งผลต่อผลผลิตภาคเกษตร และความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตโลกและความผันผวนของราคาพลังงาน

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก) ของปีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ โดยเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. เมื่อเวลา 19.47 น. ที่ 32,704 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าปีก่อนไปกว่า 10% แล้วและคาดว่าจะเกิดการพีกอีก โดยปีนี้อัตราไฟพีกจะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 เมกะวัตต์ หรือสูงกว่าปีก่อนประมาณ 15-16% และอาจจะเป็นช่วงกลางคืน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัจจุบันในช่วงเวลากลางวันมีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์)มากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ แต่ในช่วงกลางคืนที่ผลิตไฟไม่ได้ก็ต้องกลับมาใช้ไฟฟ้าในระบบจึงทำให้ไฟพีก อีกสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะมีการชาร์จไฟเข้ารถในช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน แม้จะยังเป็นสัดส่วนน้อยที่ทำให้ไฟพีก แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นตัวแปรสำคัญในการคำนวนการสำรองไฟฟ้า

“เรายังโชคดีที่มีสำรองสูง จึงสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าได้ทุกช่วง ซึ่งเมื่อดูจากสถิติปีก่อนช่วงไฟพีก ประเทศมีไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ 30% แต่ในปีนี้ต้องติดตามการจัดหาไฟฟ้าในแหล่งใหม่ ๆ ของปีนี้หากไม่มีเพิ่มขึ้น และความต้องการใช้ไฟสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้ปริมาณสำรองลดลงจากปีก่อน ส่วนอีวีเป็นอีกปัจจัย แม้ปัจจุบันยังไม่เยอะมากแต่ในอนาคตเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน เพราะมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ยังไม่น่ากังวลมากนักเนื่องจากการชาร์จในช่วงกลางคืน จะเป็นแบบนอร์มอลชาร์จ จึงใช้ไฟไม่สูงมาก รวมถึงการพัฒนาหัวชาร์จใหม่ ๆ ก็ทำให้ใช้ไฟไม่แรงมาก”นายวีรพัฒน์ กล่าว