“ธรรมนัส”สั่งเข้มตรวจสอบสินค้าประมง ชี้ลักลอบ 20 คดีสูญหมื่นล้าน

“ธรรมนัส” สั่งเร่งแก้ปัญหาประมง เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้า พร้อมวางมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสินค้าประมงใหม่ หลังพบลักลอบ 20 คดีสูญหมื่นล้านบาท

  • เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้า
  • วางมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสินค้าประมงใหม่
  • หลังพบลักลอบ 20 คดีสูญหมื่นล้านบาท

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำว่า การประชุมครั้งนี้ ได้หารือเกี่ยวกับ มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสินค้าประมง ซึ่งในที่ประชุมยังสรุปผลไม่ได้ แต่ต้องมีค่าธรรมเนียมการนำเข้าที่วางมาตรฐานใหม่ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้าตามหลักสากล

ส่วนมาตรการใช้หลักสากลเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้าประมงที่นำเข้าประเทศไทยทุกประเภทนั้น ที่ประชุมได้ข้อสรุปแล้วว่า จะใช้ใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) และใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) รวมถึงใบรับรองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหลักสากลอยู่แล้ว พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบและติดตามตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางการขนส่งสินค้าประมง ว่าผู้นำเข้านำไปจำหน่ายที่ไหนด้วย

“ผลการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำก็จะนำไปเสนอในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่มีผมเป็นประธานต่อไป ยืนยันว่าทุกอย่างจะจบได้ ในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเลนี้ ส่วนปัญหาหารลักลอบนำเข้าสินค้าประมง ที่กำลังเป็นประเด็นก่อนหน้านี้ ได้มอบหมายให้กรมประมง ดำเนินการตรวจสอบอยู่ ซึ่งมีทั้งสินค้าเพื่อการประมง รวมถึงให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับการลักลอบนำเข้าในราชอาณาจักรอย่างไม่ถูกต้องด้วย คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้จะเห็นชัดเจน”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า สินค้าประมงที่กำลังมีปัญหา คือ กลุ่มหมึก กลุ่มปลาซาชิมิ เช่น ปลาทรายแดง ปลาตาโต เป็นต้น ที่ราคาตกต่ำมากจนกระทบชาวประมง โดยล่าสุด หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ตรวจสอบพบคดีที่เกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร ประมาณ 20 คดี มีทั้งสินค้าประมงและปศุสัตว์ รูปแบบคือใส่ในของสินค้าในตู้ขนส่ง ไม่ตรงกับใบสำแดงรายการ หรือสำแดงเอกสารเท็จ ทั้งนี้ ส่งข้อมูลให้กองบังคับการปราบปรามรับคดีแล้ว คาดว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท