ไทยส่งออก “ทุเรียน”ไปจีนลดลง 12% ระวังเวียดนาม-มาเลย์คู่แข่งส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไทยส่งออกทุเรียน ไปจีนปี 2567 เติบโตร้อยละ 12 ลดลงจากปีก่อนหน้า เหตุผลกระทบจากอากาศแปรปรวน ระวังคู่แข่งในตลาด “เวียดนาม-มาเลย์” แนะรักษาความได้เปรียบโดยคงคุณภาพทุเรียนไทยให้ได้

  • เหตุผลกระทบจากอากาศแปรปรวน
  • ระวังคู่แข่งในตลาด “เวียดนาม-มาเลย์”
  • แนะคงคุณภาพทุเรียนไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า “ทุเรียนสด” ถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และในปี 2566 ทุเรียนสดของไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้อยู่ หรือราวร้อยละ 68 ของมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน

โดยมีปัจจัยหลักมาจากความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนมีมากขึ้นตามความนิยม และปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย อาทิ ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางราง ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่ง ได้มากขึ้น ซึ่งในปี 2566 เริ่มมีการส่งทุเรียนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น โดยคิดเป็นร้อยละ 5.7 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปจีน

ดังนั้นในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมการส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนอาจอยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 12 ลงลดจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากปริมาณส่งออก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 ซึ่งเติบโตในทิศทางชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากอากาศแปรปรวน และคู่แข่งในตลาดที่เพิ่มขึ้น

เช่น ทุเรียนเวียดนาม เริ่มมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น หลังได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้ส่งออกทุเรียนสดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนก.ค. 65 ประกอบกับมาเลเซีย ที่อาจได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ในปีนี้ น่าจะส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนสดไทยในจีนที่อาจปรับลดลงได้

ทั้งนี้การรักษาคุณภาพของทุเรียนไทยที่ปัจจุบันยังมีความได้เปรียบอยู่ จากรสชาติที่เป็นที่นิยม และความหลากหลายของพันธุ์ จะเป็นกุญแจสำคัญ ท่ามกลางภาวะที่คู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน และกระทั่งในจีน ซึ่งกำลังเร่งพัฒนาผลผลิตทุเรียน เพื่อรองรับกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ยังมีอยู่มาก และจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงข้างหน้า