กระทรวงดิจิทัล-ปปง.-ตำรวจไซเบอร์ บุกทลาย แก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

กระทรวงดิจิทัล-ปปง.-ตำรวจไซเบอร์ บุกทลาย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายใหญ่ พื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุดใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไป

  • แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน
  • โพสต์Facebook ชักชวนให้แลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวน
  • ในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน
  • เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวปฏิบัติการยึดทรัพย์เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

นายประเสริฐ กล่าวว่า การจับกุมคดีสำคัญในครั้งนี้ คือ คดีของนางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีพฤติการณ์แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ในรูปแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างกลโกงหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมหาศาล  

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนัน โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีในรายคดีดังกล่าว

อีกทั้งจากข้อมูลของ บก.ปอศ. พบว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะ ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำและหลอกลวงผู้เสียหายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไป แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน แอปพลิเคชั่น Facebook ในลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มของนางสาวธารารัตน์ กับพวก มีการโอนเงิน มากกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่สอดคล้องกับอาชีพรายได้ รวมทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวโอนเงิน ไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิดอำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย

โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท

สำหรับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน หลายรายการ เช่น ธนบัตร ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ นาฬิกาแบรนด์เนม รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท และตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป