CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero

  • SCB EIC วิเคราะห์กลไกค้าโลก
  • แนะผู้ประกอบการไทย ตรียมพร้อม เทรนด์ Net Zero
  • ปรับตัวให้พร้อมกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิช์ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์  CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero โดยระบุว่า  EU Emission Trading System (EU ETS) เป็นกลไกสำคัญที่สหภาพยุโรป (EU27) นำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการใน EU เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ผลิตนำเข้าสินค้า หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่มีค่าใช้จ่าย/มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมน้อยในการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ (ปัญหา Carbon leakage) โดย EU มีการกำหนดให้เพดานการปล่อยคาร์บอนลดลงทุกปี และทยอยลดการให้สิทธิที่เคยอนุโลมการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ต้นทุนการผลิตใน EU ยังแข่งขันได้ (Free allowances) แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดการปล่อยคาร์บอน ส่งผลให้ต้นทุนในการปล่อยคาร์บอนของผู้ผลิต EU มีแนวโน้มสูงขึ้น 

ทั้งนี้ EU จึงออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อให้ผู้ผลิตใน EU และผู้นำเข้าสินค้าเข้ามายัง EU แบกรับต้นทุนการปล่อยคาร์บอนอย่างเท่าเทียมกัน โดยที่ผู้นำเข้าสินค้าเข้ามายัง EU ต้องจ่ายราคาคาร์บอนผ่านการซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตของสินค้าที่ได้นำเข้ามา โดยราคาของ Certificates นี้จะเชื่อมโยงกับราคาของ EU ETS

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบมาตรการ CBAM ในการเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศ  ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไป EU มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในการเตรียมความพร้อมจนกว่ามาตรการ CBAM จะถูกบังคับใช้แบบเต็มรูปแบบในปี 2026 โดยระยะเปลี่ยนผ่านอยู่ในช่วง 1 ตุลาคม 2023 – 31 ธันวาคม 2025 ครอบคลุมถึงแค่การรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตของสินค้านำเข้า และบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 ที่ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนและจ่ายค่าคาร์บอนในรูปของ CBAM Certificate โดยกลุ่มสินค้าที่เข้าเกณฑ์ CBAM ได้แก่ 1) เหล็กและเหล็กกล้า 2) อะลูมิเนียม 3) ซีเมนต์ 4) ปุ๋ย 5) กระแสไฟฟ้า และ 6) ไฮโดรเจน อย่างไรก็ดี คาดว่า EU จะขยายเกณฑ์ไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ข้อกำหนดต่าง ๆ ในระยะนี้ยังคงไม่ชัดเจนและอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องจับตามองกันต่อไป

หากผู้นำเข้าไม่สามารถรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตสินค้าได้ ผู้นำเข้าอาจต้องแบกรับต้นทุนการปล่อยคาร์บอนสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง เนื่องจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้าจะถูกอ้างอิงจากกลุ่มผู้ผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดแทน

มาตรการ CBAM กดดันให้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกต้องมีการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอน และหันมาพัฒนาการผลิตให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น หากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าไปยัง EU ไม่สามารถวัด หรือลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ อาจเผชิญความเสี่ยงที่สินค้าเป็นที่ต้องการน้อยลง หรือถูกต่อรองราคาขายจากผู้นำเข้า

แม้ในเบื้องต้นไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก CBAM มากนัก เพราะกลุ่มสินค้า 5 กลุ่มแรกที่เข้าเกณฑ์ CBAM และส่งออกไปยัง EU นั้นเป็นส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมต่อเทรนด์เหล่านี้ เนื่องจาก EU อาจมีการเพิ่มประเภทกลุ่มสินค้า รวมถึงการเข้ามาของเทรนด์ Net Zero จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกจะเข้ามามีบทบาทต่อไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยสามารถเริ่มจากการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการการผลิตสินค้าแต่ละชนิด การวางแผนในการลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และปรับตัวให้พร้อมกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต