​ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด นายกฯนั่งประธานขับเคลื่อน

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด นายกฯนั่งประธานขับเคลื่อน กำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ

  • กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน
  • เชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ

ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด

กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และ

การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้

1.1 คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

1.2 คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ

1.3 คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และ คณะกรรมการอากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อพบว่ามีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

2. ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน

4. เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

5. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ดังนี้ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด

6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ