กรมควบคุมโรค ระวังเข้ม “ไข้หวัดนก” เผยทั่วโลกพบคน-สัตว์ป่วยเป็นระยะ ล่าสุดพบเพิ่มในฟาร์มสัตว์ปีกในเกาหลีใต้–สหรัฐ พบคนงานฟาร์มสัตว์ปีกติดเชื้อ 9 ราย ส่วนเพื่อนบ้านกัมพูชา พบคนเสียชีวิตสะสม 10 ราย
- คนงานฟาร์มสัตว์ปีกติดเชื้อ 9 ราย
- กัมพูชา พบคนเสียชีวิตสะสม 10 ราย
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์โรคระบาดในต่างประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า กรณีของโรค ไข้หวัดนก นั้น ทั่วโลก มีรายงานพบการป่วยทั้งในคน และในสัตว์เป็นระยะๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1
ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ แต่ยังไม่พบว่า สามารถติดต่อจากคนสู่คน ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก มีรายงานพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีก ในเมืองดงแฮ จังหวัดคังวอนโด สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567
และเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 มีรายงานคนงานฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐวอชิงตัน ติดเชื้อ 9 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อ 3 ราย นั้นยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไวรัสไข้หวัดนกชนิด A (H5N1)
โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 แต่หลังจากนั้นยังไม่พบอีก ส่วนที่ประเทศใกล้บ้านเรา อย่างกัมพูชา ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 10 ราย
ดังนั้น จึงยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยงภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)
พญ.จุไร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คำแนะนำสำหรับประชาชนคือ ขอให้รับประทานอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะเมนูสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย
หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสกับสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส
โดยหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงดังกล่าวให้แพทย์ทราบ.
สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 แต่หลังจากนั้นยังไม่พบอีก ซึ่งมีระบบเฝ้าระวังต่อเนื่อง ส่วนที่ประเทศใกล้บ้านเรา อย่างกัมพูชา ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 10 ราย จึงยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยงภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์
และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : โอกาสส่งออก “ไก่ไทย” หลังไข้หวัดนก…ฉุดผลผลิตคู่ค้า