

บิ๊ก AOT ยืนยันมติขอคืนพื้นที่บางส่วนใน “สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต” ทุกฝ่ายร่วมมือเต็มที่ตามข้อเสนอ Skytrax แนะไทยยกเครื่องสนามบินสมัยใหม่เริ่ม 1 ก.ค.67 ตั้งเป้าตามนโยบายรัฐบาลปี’68 ขยับชั้นติด 1 ใน 50 สนามบินโลกส่วน “คิงเพาเวอร์” หนุนทุกมาตรการดันไทยขึ้นฮับท่องเที่ยวและการบินภูมิภาคเอเชีย

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “AOT/ทอท.” เปิดเผยว่า ขอนำเสนอความจริงอย่างถูกต้องกรณี “ทอท.ขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของผู้ประกอบการ และพื้นที่ปฏิบัติงานของส่วนราชการบางส่วนภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูเก็ต
เพื่อจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มเติมตามมาตรฐานการดำเนินกิจการท่าอากาศยานสมัยใหม่” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ซึ่งในวันเดียวกันนั้นทางเลขานุการบริษัทในฐานะผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ ก็ได้ทำหนังสือเรื่องขอคืนพื้นที่นำเรียนส่งไปถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับอธิบายรายละเอียดทั้งหมดไว้ครบถ้วนทุกประเด็น
เหตุผลหลักเป็นการขอคืนพื้นที่ที่เหมาะสมบางส่วนซึ่งเป็นส่วนของผู้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์เอกชน ได้แก่ 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และของราชการ 2.พื้นที่ปฏิบัติงานบางส่วนของหน่วยราชการ ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และกรมสรรพากร ประกอบด้วย
- พื้นที่ส่วนที่ 1 ภายในสุวรรณภูมิ 2 อาคาร ได้แก่ อาคารเทียบเครื่องบินสุวรรณภูมิ (Concourse) และอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหลังใหม่ (SAT-1) รวมประมาณ 1,097.14 ตารางเมตร
- พื้นที่ส่วนที่ 2 ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศท่าอากาศยานภูเก็ต รวมประมาณ 491.22 ตารางเมตร
พร้อมทั้งระบุชัดถึงการขอคืนพื้นที่ในท่าอากาศยานทั้งสุวรรณภูมิและภูเก็ต เป็นไปตามข้อแนะนำของ Skytrax กับคณะกรรมการกลยุทธ์คุณภาพบริการท่าอากาศยาน ทอท.ซึ่งจะส่งผลเล็กน้อยแต่ก็เตรียมจะเพิ่มรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ เป็นการชดเชยรายได้ที่ลดลงต่อไปจากบางส่วนต้องลดลงตามสภาพจริงหลังขอคืนพื้นที่บางส่วนมีผล 2 เรื่อง
- เรื่องที่ 1 รายได้ค่าเช่าพื้นที่ลดลงเล็กน้อย เฉลี่ยเดือนละ 1,015,000 บาท
- เรื่องที่ 2 อาจทำให้ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน ( (minimum guarantee)ในช่วงสัญญาปี 2567-2568 ที่สนามบินสุวรรณภูมิลดลงไปเดือนละประมาณ 74 ล้านบาท และสนามบินภูเก็ตลดลงไปเดือนละ 19 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญคือขอคืนพื้นที่ส่วนน้อยใน 2 สนามบินนานาชาติ เพื่อ “เพิ่มมารตรฐานการดำเนินกิจการท่าอากาศยานสมัยใหม่” ตอบโจทย์รัฐบาลไทยซึ่งมีนโยบายให้นำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับการจัดอันดับภายในปี 2568 จะต้องขยับติด 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก แล้วจากนั้นอีก 5 ปีข้างหน้า จะต้องขยับติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกต่อไป
ดร.กีรติกล่าวว่า เหตุผลของ ทอท. ในการขอคืนพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้กระทบทั้งกับผู้ประกอบการเอกชน บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และหน่วยงานราชการดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากในเงื่อนไขสัญญาระบุไว้ชัดเจน
ซึ่งมติบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ต้องการเน้นเป้าหมายหลักเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของ Skytrax ได้ทำรายงาน Bangkok Suvarnabhumi International Airport Audit Report ในฐานะเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาธุรกิจการบินชั้นนำของโลก มีความเชี่ยวชาญการวิเคราะห์คุณภาพให้บริการของสายการบินและสนามบินทั่วโลก
จึงเสนอแนะให้ ทอท. เร่งปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ภายในอาคารเทียบเครื่องบินหรือคอนคอร์ด กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะเดียวกันคณะกรรมการกลยุทธ์คุณภาพบริการท่าอากาศยานของ ทอท.เอง มีความเห็นเพิ่มให้ปรับปรุงพื้นที่ในท่าอากาศยานภูเก็ตควบคู่กันไปด้วยเพราะปัจจุบันเริ่มแออัดแล้วสมควรจะต้องพัฒนาใหม่ให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากล
แผนงานของ ทอท.ได้ขอพื้นที่บางส่วนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูเก็ตคืนไปจัดทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามมาตรฐานการดำเนินกิจการท่าอากาศยานสมัยใหม่ ตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของผู้โดยสารทั้งคนไทยและต่างประเทศทั่วโลกที่ใช้บริการเข้าออกได้ดียิ่งขึ้น สนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทสช่วยสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศแต่ละปีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญควบคู่กันทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ทางด้าน “กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์” ภายใต้การบริหารของ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้แสดงความเป็นมืออาชีพในการพัฒนาธุรกิจโดยให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายทุกรัฐบาล เน้นเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Aviation Hub การนำประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียหรือ Tourism Hub และการลงทุนสนับสนุนย่านรางน้ำเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวงานเทศกาลนานาชาติ หรือ International Festival
กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เดินหน้าขานรับนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อย่างเต็มที่มาตลอด เช่น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเรื่องยกเลิกบริการร้านดิวตี้ฟรีขาเข้าในสนามบินนานาชาติของไทย ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมให้ไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มาตรการ คือการยกเลิกจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่แสดงและขายของ (ร้าน Duty Free ขาเข้า) ยกเลิกเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยเมื่อเดินทางกลับเข้ามาในประเทศได้จับจ่ายซื้อของในประเทศแทนการซื้อสินค้าจากร้านดิวตั้ฟรีขาเข้านั่นเอง

ส่วนการขอคืนพื้นที่ตามมติบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อสนับสนุนให้ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ตสามารถพัฒนายกระดับความทันสมัยเทียบชั้นนานาชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี พัฒนาประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของคนทั่วโลกนำเงินเข้ามาใช้จ่ายสร้างเศรษฐกิจชาติเข้มแข็งทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างแท้จริง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : AOT ฟังข้อชี้แนะทุกฝ่ายผุดดอนเมืองเฟส 3 นำไทยฮับการบิน