3 บทเรียน ทางการเงินชวนคิดหลังโควิด-19

คอลัมน์ “เศรษฐกิจคิดง่ายๆ” วันนี้ หยิบยกบางส่วนของบทความ Financial Wisdom  จาก BOT​ พระสยาม Magazine ฉบับที่ 3/2563​​​​​​​​​​ (พฤษภาคม – มิถุนายน)​​​​​ ของแบงก์ชาติ ซึ่งพูดถึง 3 บทเรียนทางการเงินที่สำคัญจากวิกฤติโควิด-19 โดยได้เสนอแนวทางเพื่อฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนเข้าสู่สภาวะปกติ ไว้อย่างน่าสนใจมาเล่าต่อให้ฟังแบบง่ายๆ  

และในข้อเท็จจริง 3 บทเรียนทางการเงินที่กล่าวมานี้ ไมได้ใช้ได้เฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 นี้เท่านั้น แต่สามารนำไปใช้ในตลอดทั้งชีวิต เพราะหากทำได้ตามนี้ ก็จะสามารถช่วยให้คุณมีความแข็งแกร่งทางการเงินเพียงพอที่จะฝ่าช่วงวิกฤตของทุกช่วงชีวิตไปได้

3 บทเรียนการเงินที่ว่านี้มีอะไร และแบงก์ชาติให้เราทำสิ่งที่ยากเกินไปหรือไม่  มาลองดูกัน

​บทเรียนที่ 1 ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

ในเวลานี้ ไม่ว่าเจ้าของธุรกิจหรือพนักงานทั่วไป คงล้วนประสบปัญหาแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด 19 ทั้ง ธุรกิจมีลูกค้าน้อยลง ยอดขายตก หรือไม่สามารถเปิดร้านได้ชั่วคราว ส่งผลให้รายได้ที่เคยมีและน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กลับลดลงจนไม่พอกับรายจ่าย และต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันยกใหญ่ 

เช่น ร้านอาหารที่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่บริการส่งถึงบ้าน หรือธุรกิจบางอย่างก็เลือกที่จะลดเงินเดือนหรือเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนและประคองธุรกิจให้อยู่รอด 

ตัวพนักงานเองที่เคยมีรายได้แน่นอนพร้อมรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าโอที ค่าคอมมิชชัน หรือค่าเซอร์วิสชาร์จ กลายเป็นคนตกงานหรือมีรายได้ไม่พอใช้ 

ดังนั้น สิ่งที่เราทุกคนควรปรับตัวหลังโควิด-19 เพื่อ “ไปต่อ” คือ การไม่หยุดนิ่ง และไม่คิดว่าทุกอย่างจะแน่นอน

การมองหาช่องทางหรือพัฒนาทักษะเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น ขายของออนไลน์ ทำอาหารขาย ขับรถส่งของ สอนพิเศษ หรืองานอื่น ๆ จากความสามารถพิเศษของเรา เพื่อให้มีรายได้มากกว่าหนึ่งทาง เพราะเมื่อรายได้จากงานหลักลดลง รายได้ส่วนนี้อาจช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดจากความไม่แน่นอนในชีวิตที่เกิดขึ้นได้

บทเรียนที่ 2 การทำแผนการเงินล่วงหน้า

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ฉันใด “การทำแผนการเงินล่วงหน้า” จะเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางในการใช้จ่ายเพื่อให้เรารู้สถานะของตนเองในอนาคต ว่าจะต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น หรือสามารถใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน

ซึ่งการทำแผนการเงินล่วงหน้า ทำได้ง่ายๆ ด้วยการคาดการณ์รายรับ – รายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นใน 3 เดือนหลังจากนี้ แล้วนำตัวเลขรายรับมาหักลบรายจ่าย หากผลออกมาเป็นบวก ให้ลองหาช่องทางต่อยอดเงินเหลือให้เป็นเงินออมเพิ่มเติม แต่หากผลออกมาติดลบก็ควรวางแผนเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่ายไม่จำเป็น 

โดยสิ่งที่สำคัญนอกจากการทำแผนการเงินคือ การลงมือทำตามแผนอย่างเคร่งครัดและทบทวนเส้นทางการใช้จ่ายของตนเองให้เป็นไปตามแผนอยู่เสมอ

ก่อนที่วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้จะจบลงลองประเมินสถานการณ์ทั้งด้านการงาน การเงินไว้ล่วงหน้า แล้วลองดูว่าฐานะการเงินที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ มั่นคงหรือไม่ และสามารถรับมือวิกฤตนี้ได้นานแค่ไหนกัน

บทเรียนที่ 3 วินัยการเงินคือกุญแจสำคัญ

ในช่วงของความยากลำบาก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดลงอย่างหนัก ในช่วงโควิด-19 ผู้ที่ “รอด” จากความเดือดร้อนเรื่องเงินในวิกฤติช่วงนี้ไปได้ คือผู้ที่มีวินัยทางการเงิน  เช่น มีเงินออมสำรองไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น  และไม่ได้ก่อหนี้ไว้จนเกินตัว 

“วินัยทางการเงิน” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเมื่ออยู่ในภาวะฉุกเฉินได้ 

และการสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งต่อๆ ไป ควรเริ่มจาก 4 ข้อหลักที่จะเป็นกุญแจสำคัญ และเกราะป้องกันในอนาคต  

1. แบ่งออมทันทีก่อนนำเงินไปใช้จ่าย อย่างน้อยร้อยละ 10 และพยายามเพิ่มให้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน 2. จำกัดภาระผ่อนหนี้ ไม่ให้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน  

3. ควบคุมตนเองไม่ให้ใช้จ่ายตามกระแส ลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นลง หรือตั้งงบประมาณสำหรับซื้อของที่อยากได้ เช่น ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้และ 4.สร้างเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงในชีวิต เช่น ออมเงินเผื่อฉุกเฉินที่ 3 – 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน 

ทั้งหมดนี้ เตรียมไว้สำหรับใช้จ่าย เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน นอกจากนั้น ควรสำรวจสวัสดิการของที่ทำงานของเราให้ชัดเจนด้วยว่า ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉินได้หรือไม่ เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชยเมื่อว่างงาน และหากยังไม่ครอบคลุม ก็ควรออมเงินเพิ่ม หรือทำประกันเพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายเหล่านี้

ซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือกออม ทั้งประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต หรือประกันสังคมเพื่อค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยเมื่อว่างงาน

“ความยากลำบากและปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงนี้ อาจทำให้เราเหนื่อยและท้อใจ แต่อุปสรรคเหล่านี้จะเป็นเหมือนบททดสอบที่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น เมื่อรวมกับความอดทนไม่ย่อท้อ สติ และการลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถรอดพ้นจากทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิต …ก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปสู่ new normal ได้อย่างราบรื่น”