28 ธ.ค.นี้ ลุ้นบอร์ดกกพ.นัดส่งท้ายปี  เคาะลดค่าไฟฟ้าอีกครั้ง 

  • หาช่องทางลดค่าไฟฟ้าเอกชน 
  • แจงสาเหตุค่าไฟฟ้าแพง 
  • กกร. ต้องยอมรับความจริง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทบทวนราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ให้ถูกลงกว่าเดิมจากที่มีการประกาศจัดเก็บที่ 190.44 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 5.69 บาทต่อหน่วย ซึ่งอาจลดลงได้ไม่มาก และอาจไม่ถูกใจใครบางกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวเลขให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว โดยวันที่ 28 ธ.ค. นี้ กกพ.จะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ด) กกพ.เพื่อคำนวณตัวเลขใหม่อีกครั้ง ส่วนจะลดลงได้เท่าใด ต้องรอ กกพ.ประกาศตัวเลขออกมา

“ผมอยากทำความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นวิกฤติพลังงานจริงๆ เพราะการนำเข้าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ขณะนี้มีราคาตลาดโลก ที่สูงมากในระดับ 29-30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพราะถ้าราคา 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร สิ่งที่ต้องคิดคือ การปรับตัว ซึ่งบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะได้เร่งกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้มากขึ้น ซึ่งต้นปีหน้าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ จึงอยากให้เข้าใจว่าราคาเชื้อเพลิงมีขึ้นได้ก็ลงได้”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเชื้อเพลิงที่แพงมาผลิตไฟฟ้า โดยราคา 5.69 บาทต่อหน่วยข้างต้น ยังไม่ได้คิดค่าสายส่งอีกหน่วยละ 6.50 บาท ดังนั้น ไทยต้องหามาตรการลดการนำเข้าแอลเอ็นจี และหันไปใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้าเดือนละ 400 ล้านลิตร หรือ 15% และการขยายเวลาใช้ถ่านหิน เพื่อผลิตไฟฟ้าในอัตรา 5% ของเชื้อเพลิงรวมหรือรวมเป็น 20% ซึ่งการขนส่งเชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิด ก็มีต้นทุนค่าขนส่งอีกด้วย ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็รับภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิง 100,000 ล้านบาท โดยเมื่อภาคธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้นเท่าใด การใช้ไฟฟ้าก็จะเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมีการนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้น ตามไปด้วย

ล่าสุด สิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ ภาคครัวเรือนมีการประหยัดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้กระทรวงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าลดลง ซึ่งใช้ไฟฟ้าโดยรวมที่ 17% เป็นของภาคพลังงานทั้งหมด รัฐบาลก็ไม่ได้อยากไปผลักภาระให้กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีบุญคุณต่อการเติบโตของประเทศ และยืนยันว่าตัวเลขเอฟทีจะลดลงแน่นอน แต่อาจไม่ถูกใจใคร ดังนั้น จึงอยากให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ ต้องเสริมสภาพคล่อง กฟผ.ด้วย ซึ่งพิจารณาตัวเลขคืนหนี้ให้ กฟผ.ที่ 0.33 สต.ต่อหน่วยก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำแล้ว

“อยากให้กลุ่มธุรกิจทำเหมือนตอนเราแก้ปัญหาโควิด-19 คือให้หันหน้าคุยกัน เราตระหนักว่าอะไรปรับได้ก็ปรับ ผมก็อยากให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ช่วยดูตรงนี้เพราะเป็นภาคพลังงานที่ใช้แอลเอ็นจี เป็นเชื้อเพลิงสูง และใช้ในราคาเฉลี่ยเหมือนกัน ซึ่งเอกชนยังไม่มีความพยายามใช้น้ำมันเตา หรือเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆเลย อย่ามาเอาค่าเฉลี่ยราคาค่าไฟฟ้า เท่ากับประชาชนกว่า 23 ล้านครัวเรือน มีการปรับค่าเอฟทีไปที่ 93.43 สต.ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟหน่วยละ 4.72 บาท ตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งไม่เป็นภาระในส่วนที่นำเข้าแอลเอ็นจีที่แพงขึ้น”.