“ไม่กู้ก็ไม่มีกิน กู้ใหม่ก็ไม่มีส่ง”

ท่ามกลาง “วิกฤตโควิด-19” ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ “คนว่างงาน” มีจำนวนเพิ่มขึ้น และคาดว่าจำนวนคนตกงานจะขึ้นสู่จุดพีคสูงสุดในช่วงปลายปี 2563  โดย ณ วันนี้ มีคนไทยที่ตกงาน หรือถูกพักงานชั่วคราวมากกว่าล้านคน  ขณะเดียวกัน “คนที่ยังไม่ตกงาน” ส่วนมากมีรายได้ที่ลดลง

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน สวนดุสิตโพล พบว่า ความวิตกด้านเศรษฐกิจของคนไทย อันดับแรก คือ ภาระหนี้สินสูงถึง 80.78% ขณะที่รองลงมากกังวลต่อราคาสินค้าที่แพงขึ้น 76.78 และอันดับ 3 คือวิตกกังวลต่อการว่างงาน 74.64%

สอดคล้องกับ ความกังวลของสภาพัฒน์ และแบงก์ชาติ ที่มีต่อจำนวนหนี้ครัวเรือนของคนไทย โดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลในประเทศไทย (จีดีพี) อยู่ที่ 80.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี 

และที่สำคัญศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่ 88-90% ของจีดีพีช่วงสิ้นในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สำคัญกว่านั้นมาตรการ “การพักหนี้” ของสถาบันการเงิน ไม่ได้ช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลง 

นอกจากนั้น ยังต้องลุ้นในช่วง 4 เดือนหลังของปีหลังจากนี้ด้วย ว่า ทิศทางของหนี้เสียหรือหนี้ด้อยคุณภาพจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะตามปกติ “ค่าเฉลี่ยของความยืดหยุ่นของครัวเรือนไทยต่อการรับภาระหนี้สิน” จะสู้ไหวอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือน

เมื่อมีเงินไม่พอใช้ ทางออกของคนจำนวนมากคือ “กู้เงิน หรือยืมเงิน” มาใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่อจำนำบ้าน จำนำรถ แม้จะไม่แน่ใจมากนักกับอนาคตข้างหน้าว่าจะสามารถ “ส่งหนี้” ที่เพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่ 

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่รายได้ไม่ได้ลดลงมาก เลือกที่จะประหยัดมากขึ้น ลดการกู้เงินใหม่ และปรับโครงสร้างหนี้เดิมให้ชำระหนี้แต่ละเดือนลดลง ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะยังไม่กู้เงินก้อนใหม่และไม่ลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับ พอร์ตสินเชื่อในหลายๆ โครงการความช่วยเหลือของรัฐ ที่ไม่ได้ “วิ่งฉิว” หรือมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ในอัตราที่สูงมากอย่างที่คาดกันไว้

ทางออกที่ถูกต้อง นอกเหนือ จากการประหยัดค่าใช้จ่ายลงให้มากที่สุดแล้วของสถานการณ์ “หนี้สิน” ในขณะนี้ควรทำอย่างไร เพราะไม่กู้ใหม่ก็อาจจะไม่มีกิน ส่วนกู้ใหม่ก็กลัวจะไม่มีส่ง

“กูรู”ลองให้คิดง่ายๆ โดยประยุกต์สถานการณของ “รัฐบาล” ในขณะนี้มาเป็นแนวทาง เพราะ ณ วันนี้ หากถามว่า “รายได้ของรัฐบาลลดหรือไม่ รัฐบาลถังแตกไหม” สถานการณ์ของรัฐบาลไทยก็เหมือนคนไทย คือ รายได้ไม่พอรายจ่าย เงินออมแทบจะไม่เหลือ และต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น

แต่ “การกู้เงิน” ควรจะกู้เงินมาทำอะไรนั้น การกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายประจำวันนั้น อาจจะจำเป็นในช่วงแรก เช่น การกดดบัตรเครดิตมาใช้จ่าย แต่อย่าลืมว่า สินเชื่อพวกนี้อัตราดอกเบี้ยสูงมาก แม้รัฐจะลดดอกเบี้ยให้บ้างแต่ก็ยังสูงถึง 16% 

ในสถานการณ์ของรัฐบาลนั้น การกู้เงินใหม่มาเพื่อใช้ในมาตรการ “เยียวยา”ประชาชนนั้น ถือเป็นการใช้จ่ายระยะสั้น แต่ในระยะกลางและยาว การใช้เงินจะต้องมีมาตรการที่ “สร้างงานใหม่ และสร้างเงินเพิ่ม” เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ คือ กู้เงินมาลงทุนในโครงการที่ได้ “มูลค่าเพิ่ม” กลับมา ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มที่เป็นตัวเงิน ตัวงาน หรือมูลค่าทางสังคม

เช่นเดียวกับ คนธรรมดาอย่างเราๆ ถ้าจะกู้เงินใหม่ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรจะเป็น “หนี้สินที่สร้างมูลค่าเพิ่ม” ในอนาคต หรือ กู้เงินเพ่ื่อต่อเงินนั่นเอง 

เช่น กู้เงินเพื่อใช้สำหรับประกอบอาชีพใหม่ หรือสร้างอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นจากงานประจำที่ทำอยู่  หรือกู้เงินมาเพื่อหาความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะต่อยอด “งาน” หรือปรับปรุง “ธุรกิจ”ของเรา เพื่อให้ทักษะของเรา เป็นที่ยอมรับของนายจ้าง มากขึ้น หรือทำให้ธุรกิจกลับมามียอดขาย

การปรับปรุงคุณภาพของการผลิต และสินค้าของเรา รวมทั้งปรับปรุงทักษะของ “ตัวเรา” นั้น นอกเหนือจากสร้างโอกาสมากขึ้นที่จะเพิ่มรายได้ หรือรักษางานในวันนี้แล้ว ยังช่วยให้เข้ากับโลกใหม่หลังยุคโควิด-19 ที่เรียกกันว่า นิว นอร์มอล (New normal) มากขึ้นด้วย

และในวิกฤต ยอมมีโอกาส เพราะจากธุรกิจร้านกาแฟที่ขายแต่หน้าร้าน หรือร้านอาหารเล็กที่มีลูกค้าจำกัด การส่งสินค้าและการขายออนไลน์ เปิดโอกาสทำรายได้ที่มากกว่าให้หลายธุรกิจมาแล้ว และการใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนลงในหลายธุรกิจเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ หากเรายังมองไม่ออก หรือไม่มีหนทางจะสร้างรายได้ใหม่ “การกู้เงิน” จะไม่ “ตอบโจทย์” แต่จะสร้างปัญหามากขึ้น หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะจำนวนหนี้ที่มากขึ้น อาจจะทำให้เราเข้าสู่จุดที่ผ่อนส่งหนี้ไม่ได้ และอาจจะต้องสูญเสียหลักประกันที่สำคัญของชีวิต เช่น บ้าน หรือรถยนต์

การศึกษาทิศทาง โอกาส และตลาดใหม่ เพิ่มรายได้สำหรับอนาคต รวมทั้ง การทำงานเพิ่มขึ้นโดยไม่เลือกงานในขณะนี้  จึงเป็นหนทางสู่ “ทางรอด” ที่ต้องสู่กันต่อไป

ที่สำคัญที่สุด แม้ว่าเราจะประหยัดมากขึ้นแล้ว เราลดค่าใช้จ่ายลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลการศึกษาที่สำรวจมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ พบว่า  มากกว่า 75% ของครัวเรือน ยังสามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้ โดยประเมินว่า  สามารถจะลดลงสูงสุดประมาณ 20% ของปัจจุบัน เลยทีเดียว เพียงแต่เราต้องทบทวนถึง “ความจำเป็น” จริงๆ ให้มากขึ้นเท่านั้น

ทุกคนรู้ว่า การผ่านวิกฤตโควิด -19 ในครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งคงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลที่จะ “กู้เงิน”มาเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ และส่งเม็ดเงินใหม่เพื่อสร้างกำลังซื้อที่เพียงพอที่จะทำให้ “คนไทยส่วนใหญ่ยังมีงานทำ” และมีรายได้เพื่อใช้จ่าย และมีเงินมากพอที่จะประคับประคองภาคธุรกิจ

ขณะเดียวกัน การรอเงิน หรือมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่จะ “ช่วยคนไทยทุกคน”ได้ เราเองก็ต้องปรับตัวสู้ ไม่ว่าทางออกจะต้อง “กู้เงินใหม่” หรือไม่ก็ตาม