โอนออนไลน์พุ่งรับโควิด:การใช้จ่ายที่ไม่เห็นตัวเงิน

ถึงแม้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โรคระบาด ส่งผลให้ “คน” จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับ “คน” ด้วยกันเองลดลง ชีวิตถูกจำกัดการพบปะระหว่างกัน งดการอยู่ในที่ชุมนุมชน สนับสนุนให้อยู่บ้านมากขึ้น การติดต่อสื่อสาร การทำงาน และการใช้จ่าย จึงถูกเร่งให้เข้าสู่โลกออนไลน์ด้วยความเร็วและแรงขึ้น 

และเมื่อการถือเงินสด รับเงินสด กลายเป็นโอกาสการติดเชื้อ การชำระเงินออนไลน์จึงกลายเป็น “ทางเลือก”

รายงานพัฒนาการทางอินเทอร์เน็ตของจีน ระบุว่า ยอดผู้ใช้บริการชำระเงินออนไลน์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้จำนวนการชำระเงินออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดในเดือนมี.ค. 2563 จำนวนผู้ที่เคยใช้การชำระเงินออนไลน์ในจีน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 768 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 600 ล้านคน จากจำนวน 168 ล้านคนในปลายปี 2561

ทั้งนี้ ในปี 2562 มีการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์  7.2 แสนล้านครั้ง มูลค่ารวมเกือบ 250 ล้านล้านหยวน  หรือ คิดเป็นเงินบาทไทยราว 1.1 พันล้านล้านบาท

โดยรายงานที่ทำขึ้นโดยศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ยังระบุว่า ผู้ใช้บริการชำระเงินออนไลน์มีสัดส่วน 85% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนทั้งหมด 904 ล้านคน โดยในเดือนมี.ค. มีจำนวนบัญชีผู้ใช้ที่ชำระเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 765 ล้านคน

สอดคล้อง financesonline  ได้ระบุถึงสัดส่วนการตลาด สำหรับช่องทางการจ่ายเงินออนไลน์  ที่ระบุว่า PayPal ครองสัดส่วนสูงที่สุดถึง 60.18% ตามมาด้วย Stripe มีสัดส่วนประมาณ 16%  ขณะที่ Amazon pay ตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 3 โดยมีสัดส่วน 3.51%  

อย่างไรก็ตาม เมื่อระบุถึงช่องทางในการซื้อสินค้าของคนอเมริกัน (1 คน ซื้อได้หลายช่องทาง) การซื้อสินค้าผ่าน Amazon มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 78% ขณะที่การออกไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีก ยังมีสัดส่วนที่สูงเช่นกันที่ 65%

ขณะที่การซื้อของผ่านโซเชียล มีเดีย อย่าง facebook อยู่ในระดับที่ไม่น้อย มีสัดส่วนประมาณ 11% ขณะที่การซื้อผ่าน Instagram มีสัดส่วน 6% และซื้อผ่าน snapchat ประมาณ 4% 

สำหรับประเทศไทยนั้น ตัวเลขล่าสุดมีถึงเดือน ก.พ.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเรายังไม่ได้เข้าสู่การกักตัวรับโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขก็ถือว่าสูงขึ้นมากทีเดียวเช่นกัน 

โดยล่าสุดตัวเลข ในเดือน ก.พ.63 มีมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่าน mobile banking หรือ ผ่านแอพในโทรศัพท์มือถือสูงถึง 2.265 ล้านล้านบาท จากจำนวนธุรกรรมทั้งสิ้น 529.9 ล้านรายการ โดยมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ 61.68 ล้านบัญชี 

เทียบกับเดือน ก.พ.ปี 62  ซึ่งมีมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่าน mobile banking 1.75  ล้านล้านบาท มีจำนวนธุรกรรม 314.4 ล้านรายการ และมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการประมาณ 48 ล้านบัญชี  แสดงให้เห็นความนิยมในการชำระเงิน และโอนเงินผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้นมากในประเทศไทย

ขณะที่การโอนเงินหรือชำระเงินออนไลน์ ผ่าน internet banking นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนของรายใหญ่ หรือกิจการที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งจะมีจำนวนการโอนต่ำกว่า แต่มียอดเงินที่ทำธุรกรรมต่อครั้งที่สูงกว่า โดยล่าสุดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีธุรกรรมการชำระเงินผ่าน internet banking ทั้งสิ้น 2.308 ล้านล้านบาท แต่มีจำนวนธุรกรรมเพียง 73.9 ล้านรายการ โดยมีำจำนวนบัญชีของลูกค้าที่ใช้บริการ 29.6 ล้านบัญชี  

ทั้งนี้  คาดกันว่า ตัวเลขการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ทั้ง mobile banking และ internet banking ของไทยจะสูงสุดมาก ในเดือน มี.ค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน เม.ย.ซึ่งประเทศไทย ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน มีการคาดหมายว่า จำนวนผู้ใช้บริการ mobile banking ในผู้สูงอายุของไทยจะมีอัตราเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากกรณีนี้

ขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีทางการเงินในการรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ประเภทต่างๆ ได้สอนให้ “ผู้มีรายได้น้อย”ของประเทศไทยเข้าถึงการเงินออนไลน์ด้วยเช่นกัน 

แต่อย่างไรก็ตาม “การใช้จ่ายเงินได้แบบง่ายๆ สะดวกรวดเร็ว โดยไม่เห็นตัวเงินออกไป” คลิกไม่กี่คลิกก็จ่ายเงินได้ในไม่กี่นาที ไม่ต้องรูดไม่ต้องเซ็น ไม่มีใบเสร็จให้เห็น อาจจะสร้างปัญหาการเงิน หนี้สิน หรือ การใช้จ่ายที่เกินตัว ได้โดยที่ผู้จ่ายเงินไม่ทันรู้ตัว 

หากผู้ใช้จ่ายหลงเพลิดเพลินไปกับการค้าในโลกโซเชียล และระบบการค้าขายออนไลน์ ซึ่งจะมีระบบเอไอ ที่จะเปิดหน้าฟีดซ้ำไปซ้ำมา วนในสินค้าประเภทที่ผู้ซื้อสนใจ หรือเคยเซิร์ทหา จนผู้ซื้ออดใจไม่กดซื้อสินค้าไม่ได้ รวมทั้งยังมีรีวิวสินค้า มีข้อเสนอจำนวนมากและการลดราคาที่น่าสนใจเลื่อนมาให้เห็นต่อเนื่องมากมาย ซึ่งชวนให้จับจ่ายมากกว่าการออกไปซื้อของข้างนอกบ้าน ที่ยุ่งยากในการเดินทาง และมีจำนวนสินค้าให้เลือกน้อยกว่าในสถานที่เดียว

ยังไม่รวม การถูกหลอกจ่ายเงิน แต่ไม่ได้สินค้า หรือ ได้สินค้าที่ชำรุด สินค้าที่ไม่ตรงปก ไม่ตรงกับภาพที่โฆษณาขาย  นอกจากนั้น การใช้บริการทางการเงินออนไลน์ ยังเสี่ยงต่อภัยจากโลกไซเบอร์ ขณะที่ความเสี่ยงที่จะถูกแฮกข้อมูลการเงิน ก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน หากผู้ใช้ประมาท หรือกดบางอย่างพลาดไป เพราะยังเข้าใจไม่ชัดเจน

ดังนั้น ในสถานการณ์วันนี้ที่เราถูกโควิด-19 ผลักให้เข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เร็วขึ้น แทนที่จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่าว่า จะทำอย่างไรถึงจะเร่งสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ทางการเงินออนไลน์ สร้างวินัยในการใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ไปพร้อมๆ กัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ใช้บริการใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยคิดใช้บริการทางการเงินออนไลน์เลยในช่วงที่ผ่านมา