แบงก์ชาติ ยอมรับเดือน มิ.ย.-ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยส่อแววแย่

  • ผิดหวังนำเข้าติดลบฉุดตัวเลขส่งออกทั้งปีติดลบ
  • ยังมองบวกเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดีขึ้น
  • รอมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลเป็นตัวช่วย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เป็นเดือนที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวแทบทุกหมวดยกเว้นการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้น การส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการนำเข้าในเดือนนี้ที่ชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบยังทำให้คาดกว่า การส่งออกในเดือน ก.ค.และส.ค.ซึ่งเดิม ธปท.คาดว่าจะฟื้นตัวในระยะสั้นๆ ไม่เกิดขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า การขยายตัวของการส่งออกทั้งปีนี้ในปีนี้ ซึ่งเดิมที่ ธปท.คาดไว้ว่าจะขยายตัวที่ 0% เปลี่ยนเป็นติดลบ

ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่าการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสแรก และเป็นการชะลอลงในทุกหมวด ซึ่งในขณะนี้คาดว่าไตรมาสที่ 2 นี้จะเป็นไตรมาสที่ขยายตัวต่ำที่สุดในปี 62 โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.3%ลดลงจากการขยายตัว 4.3% ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว2.8% ติดลบเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 1% ขณะที่ด้านการผลิตดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 2.6% เป็นการติดลบเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 1.2% ด้านต่างประเทศ การส่งออกไตรมาส 2 ติดลบ 4.2%เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ติดลบ 4% ขณะที่การนำเข้าติดลบ 3.7% ส่วนการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 ติดลบ 0.2% เทียบกับขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% ในไตรมาสแรก

“หากการท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังไม่ชะลอลงอีก สามารถขยายตัวได้ในระดับนี้ต่อเนื่อง ขณะที่มีมาตรการระยะสั้นของรัฐบาลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังที่ได้เริ่มออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเกษตรมาแล้ว แม้การส่งออกจะไม่ดีต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาคเอกชนในครึ่งปีหลังจะลดลงกว่าในครึ่งปีแรก แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะยังดีกว่าครึ่งปีแรก ขณะที่ภัยแล้งยังไม่ได้แรงกว่าที่ธปท.คาดไว้ ทั้งนี้ ท่ามกลางสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น แม้เศรษฐกิจจะชะลงบ้าง แต่ตราบใดที่การจ้างงานยังมีต่อเนื่อง คงมีกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ แต่ประชาชนอาจจะต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น โดยใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นมากกว่าการก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยการดูแลหนี้ครัวเรือนเป็นส่วนที่ธปท.ให้ความสำคัญ โดยในช่วงสิ้นปีอาจจะมีการออกมาตรการเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานหนี้ครัวเรือนที่เป็นแนวทางเดียวกันของทุกสถาบันการเงิน ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกัน ยังไม่มีตัวเลขใดระบุออกมา และหากจะมีการออกจริงต้องดูผลกระทบรอบด้านอย่างครบถ้วนด้วย”