“แทมมี่ ดักเวิร์ธ” วีรสตรีสงครามลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้อาจจะได้ชิงตำแหน่ง รอง ปธน. สหรัฐฯ

คนไทยอาจจะเคยได้ยินชื่อ แทมมี่ ดักเวิร์ธ กันมาบ้าง เธอคือชาวอเมริกันเชื้อสายไทย เป็นวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ที่มีรายงานข่าวว่าอาจได้รับเลือกให้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคู่กับโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต

คาดกันว่านายไบเดนจะประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกให้ลงสมัครคู่กับเขาในสัปดาห์นี้

ดักเวิร์ธ เกิดที่กรุงเทพมหานคร ก่อนจะย้ายไปอยู่ในหลายประเทศตามพ่อของเธอเป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ เธอสูญเสียขาทั้งสองข้างในสงครามอิรัก ทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ผู้นี้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะชนะเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารัฐอิลลินอยส์ในปี 2016 เธอคือชาวอเมริกันเชื้อสายไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่คลอดลูกระหว่างดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกอีกด้วย

เธอถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมาในฐานะผู้อาจได้เป็นผู้ท้าชิงเบอร์สอง คู่กับนายไบเดน นอกจากนี้ เธอยังตกเป็นเป้าโจมตีของ ทัคเกอร์ คาร์สัน พิธีกรช่องฟ็อกซ์นิวส์ และคนฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกด้วย

หลังจากกล่าวอย่างเปิดเผยผ่านช่องซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่าเธอมีความคิดเปิดกว้างเรื่องแนวคิดที่จะรื้อถอนอนุสาวรีย์ของเหล่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ค้าทาส คาร์สัน พิธีกรช่องฟ็อกซ์นิวส์ ตั้งคำถามต่อความรักชาติของเธอ

เธอตอกกลับผ่านทวิตเตอร์ว่า นายคาร์สันควรจะมาลอง “เดินดูสักไมล์หนึ่งโดยใช้ขาฉัน แล้วค่อยมาบอกว่าฉันรักอเมริกาหรือเปล่า”

สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนเชื่อว่าประวัติทางการทหารและภูมิหลังที่มีเชื้อสายเอเชียจะช่วยให้นายไบเดนมีโอกาสชนะมากขึ้น ผู้สนับสนุนเธอบอกว่าหากนายไบเดนเลือกเธอ เขาจะได้ฐานเสียงจากทหารผ่านศึก ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ และผู้หญิง

อย่างไรก็ดี หลายคนเชื่อว่านายไบเดนควรจะเลือกคนผิวดำเป็นผู้ท้าชิงรองประธานาธิบดีคู่กับเขาโดย คามาลา แฮร์ริส วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นตัวเก็งคนหนึ่ง

ตัวเลือกผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความสำคัญเป็นพิเศษด้วยความที่นายไบเดนอายุ 77 ปีแล้ว หากเขาชนะการเลือกตั้ง เขาจะอายุ 82 ปีเมื่อดำรงตำแหน่งครบสมัยแรก แม้แต่ผู้ที่

สนับสนุนเขาก็ไม่คิดว่าเขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งอีกสมัยหลังจากนั้น

นั่นหมายความว่าคนที่เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะได้มาเป็นประธานาธิบดีเข้าสักวันหนึ่ง

ดักเวิร์ธ ในวัย 52 ปี เป็นที่รู้จักดีที่สุดจากการทำงานในประเด็นทหารผ่านศึก เธอเคยทำงานด้านนโยบายสาธารณสุขและเคยพูดบ่อยครั้งเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงของชาติ

เธอร่วมรบสงครามอิรักแต่ก็เชื่อว่าสงครามในครั้งนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด

“มันเป็นบทเรียนที่แสนจะยากลำบาก” เธอกล่าว “ฉันหวังว่าประเทศนี้จะตั้งคำถามถึงเหตุและผลมากกว่านี้ก่อนที่จะเข้าร่วมสงคราม”

ที่ผ่านมา เธอเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของนายไบเดน และไบเดนเองก็เอ่ยชื่นชมเธอด้วย

“ผมไม่เคยเจอใครที่กล้าหาญมากเท่าคุณ” นายไบเดนบอกผ่านไปยังดักเวิร์ธระหว่างพูดที่งานระดุนทางออนไลน์ “ผมรู้สึกซาบซึ้งที่คุณอยู่เคียงข้างผมในศึกครั้งนี้”

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เธอยังได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเปิดเผยถึง “ความล้มเหลวที่จะนำชาติของเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอพร้อมที่จะต่อสู้เคียงข้างนายไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้

เธอคือใคร

แทมมี ดักเวิร์ธ วัย 52 ปี ชื่อเต็มคือ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เธอเกิดที่กรุงเทพมหานคร พ่อของเธอคือนายแฟรงก์ ดักเวิร์ธ นาวิกโยธินอเมริกันซึ่งเคยออกรบในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเวียดนามมาแล้ว นายดักเวิร์ธได้พบกับนางสาวละมัย สมพรไพลิน หญิงไทยเชื้อสายจีนที่ขายของในร้านชำระหว่างช่วงสงครามเวียดนาม และได้ตกลงสร้างครอบครัวด้วยกัน ตัวเขาเองไม่ต้องการเดินทางกลับสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้นขบวนการต่อต้านกองทัพและสงครามเวียดนามกำลังมีอิทธิพลอย่างสูง

หลังดักเวิร์ธเกิด พ่อของเธอได้ปลดประจำการและย้ายไปทำงานให้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ทำให้ต้องเดินทางไปในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เด็กหญิงแทมมี่ซึ่งพูดได้แต่ภาษาไทยจนอายุ 8 ขวบ จึงได้พบเห็นการสู้รบเป็นครั้งแรกขณะที่อยู่ในกรุงพนมเปญของกัมพูชา เธอจำได้ว่าตกใจกลัวระเบิดที่กองกำลังเขมรแดงระดมยิงเข้ามา จนพ่อแม่ต้องบอกให้คิดเสียว่าเป็นดอกไม้ไฟจะได้ไม่รู้สึกกลัว

ดักเวิร์ธยังได้ติดตามครอบครัวไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่กรุงจาการ์ตาด้วย ชีวิตวัยเยาว์ของทั้งสองมีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก เพราะหลังจากที่พ่อของแทมมี่ต้องออกจากงานในภูมิภาคเอเชีย เขาได้ตัดสินใจกลับไปลงหลักปักฐานที่ฮาวายเหมือนกับครอบครัวโอบามา

เผชิญชีวิตยากจนในช่วงวัยรุ่น

แม้การย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานในรัฐที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างฮาวาย จะทำให้ดักเวิร์ธปรับตัวเข้ากับชีวิตในสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้น แต่การที่พ่อของเธอไม่สามารถหางานทำได้ ทำให้ครอบครัวต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐเช่นเงินช่วยเหลือซื้ออาหาร

บ่อยครั้งที่เธอและน้องชายต้องอด และจะได้กินก็ต่อเมื่อพ่อเก็บเศษเหรียญในตู้โทรศัพท์ที่คนลืมทิ้งไว้จนพอซื้ออาหารเท่านั้น ความยากจนทำให้เธอต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียน และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่มีงานทำในขณะนั้น

ในที่สุดพ่อของเธอก็ได้งานที่โรงงานแห่งหนึ่ง แต่รายได้ที่ไม่เพียงพอทำให้แทมมี่ต้องขอทุนและเงินกู้เพื่อการศึกษามาโดยตลอดจนเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาเธอมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักการทูต แต่เพื่อนคนหนึ่งโน้มน้าวให้เธอเริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ เสียก่อน

แทมมี่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเธอจะตกหลุมรักการเป็นทหาร ซึ่งเธอบอกไว้ในเว็บไซต์ Politico เมื่อปี 2015 ว่า “กองทัพช่วยให้คุณมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ได้พบกับมิตรภาพชนิดที่แม้แต่เวลาย่ำแย่ ทุกคนก็ร่วมเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ไปด้วยกัน”

เธอยังได้พบกับนายไบรอัน โบวล์สบีย์ ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสามีของเธอ ระหว่างรับใช้ชาติอีกด้วย “เขาพูดแสดงความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในกองทัพ ฉันว่ามันฟังดูแย่ แต่ตอนหลังเขาก็เข้ามาขอโทษเป็นอย่างดี แถมยังช่วยฉันทำความสะอาดปืนเอ็ม-16 ด้วย” ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1993

สูญเสียขาทั้งสองข้าง

ดักเวิร์ธอาสาไปรบในสงครามอิรักขณะที่มียศร้อยเอก หลังจากหน่วยที่เธอเคยควบคุมอยู่ถูกเรียกเข้าประจำการในครั้งนั้น อันที่จริงเธอไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามในอิรัก และโดยหน้าที่แล้วไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมปฏิบัติการดังกล่าว แต่เธอก็อาสาไปเพราะไม่ต้องการให้เพื่อนเผชิญอันตรายอย่างโดดเดี่ยว

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2004 แทมมี่ซึ่งทำหน้าที่นักบินประจำเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก ได้รับคำสั่งให้ไปรับตัวทหารอเมริกันที่เมืองทาจีทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด แต่เมื่อไปถึงจุดหมาย ทหารกลุ่มดังกล่าวได้ออกไปจากพื้นที่แล้ว ทำให้เธอและนักบินอีกคนที่ไปด้วยกันตัดสินใจบินกลับฐานที่เมืองบาลัด ในระหว่างทางกลับนั้นเอง เฮลิคอปเตอร์ของเธอถูกยิงด้วยจรวดอาร์พีจี

“พอได้ยินเสียงเครื่องยิงจรวด ฉันรีบโน้มตัวไปด้านหน้าเพื่อรายงานพิกัดจีพีเอสที่ถูกยิงทางวิทยุทันที แต่ทันใดนั้นมีลูกไฟขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นมาที่ตักของฉัน ทำให้ส่วนหลังของแขนขวากระจุยไปเกือบหมด ขาขวาของฉันเหมือนระเหยหายไปในอากาศทันที ส่วนขาซ้ายห้อยร่องแร่งอยู่บนอุปกรณ์การบินข้าง ๆ” แทมมี่เล่า

“ฉันวูบหมดสติและฟื้นขึ้นมาเป็นระยะ ขณะที่ฟื้นก็พยายามเหยียบคันบังคับเพื่อควบคุมเฮลิคอปเตอร์ลงจอด ตอนนั้นฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเหยียบคันบังคับไม่ได้ นั่นเป็นเพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองเสียขาไปแล้ว”

ในที่สุดเพื่อนนักบินอีกคนหนึ่งนำเครื่องลงจอดยังฐานที่มั่นของกองทัพสหรัฐฯ ได้สำเร็จ เขาคิดว่าเธอคงตายแล้ว แต่หน่วยแพทย์สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้ เธอฟื้นขึ้นมาหลังจากนั้น 11 วัน และต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้ง รวมทั้งต้องพักฟื้นนานถึง 13 เดือน ในโรงพยาบาลทหารผ่านศึกที่กรุงวอชิงตัน

ชีวิตในเส้นทางการเมือง

ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ แทมมี่ได้รับเชิญจากวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตให้เข้าร่วมรับฟังถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรส ซึ่งทำให้ความสนใจในเส้นทางการเมืองของเธอเริ่มขึ้น วุฒิสมาชิกคนดังกล่าวยังได้เสนอให้เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เธอพ่ายแพ้ในการลงแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2006 ซึ่งนับเป็นเวลาเพียง 2 ปีหลังจากประสบเหตุถูกยิงโจมตีในอิรักเท่านั้น “ฉันกลับบ้านไปนั่งร้องไห้ในอ่างอาบน้ำอยู่ 3 วัน” แทมมี่กล่าว

หลังพ่ายศึกเลือกตั้ง เธอหันไปทำงานจัดตั้งสายด่วนช่วยเหลือทหารผ่านศึก และได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีโอบามาให้เป็นที่ปรึกษาด้านกิจการทหารผ่านศึกของรัฐบาล

ในปี 2012 เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐอิลลินอยส์อีกครั้ง และสามารถคว้าชัยชนะเหนือนายโจ วอลช์ นักการเมืองผู้อื้อฉาวในเรื่องไม่ยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรและกล่าวโจมตีบรรดาทหารผ่านศึกไปได้ ด้วยคะแนนเสียง 54.7% เธอดำรงตำแหน่ง ส.ส. เขตนี้ได้ถึงสองสมัย ก่อนจะก้าวลงศึกเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในปี 2016 ซึ่งเธอคว้าชัยชนะมาครองได้อีกเช่นกัน

ที่มา- https://www.bbc.com/thai/international-53623867