แจกข้าวชาวนาครัวเรือนละ 10,000 บาท! ครม.ไฟเขียว 28,046 ล้านบาทให้ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน

  • เป็นค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพข้าว
  • อนุมัติอีก 188 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ยโรงสี

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 28,046 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับชาวนาที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปใช้เป็นค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิต ในอัตราไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือชาวนาที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน
สำหรับการดำเนินโครงการนี้มีกรอบวงเงินรวม 56,093 ล้านบาท ภายใต้ระยะเวลาตั้งแต่เดือนส.ค.2563 – พ.ค.2564 โดยกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินตั้งแต่เดือนส.ค.2563-เม.ย.2564 ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบโครงการไปแล้วและอนุมัติจ่ายเงินไปแล้วครึ่งหนึ่ง วงเงิน 28,046 ล้านบาท จึงยังเหลือวงเงินอีกครึ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะ ชาวนาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวมถึงสามารถช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้กับชาวนาได้ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอครม.เห็นชอบดำเนินการส่วนที่เหลือ
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมในเรื่องนี้ด้วยว่า ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน และยุทธศาสตร์ข้าวและพืชเกษตรให้มีความเข้มแข็งตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางให้ได้ด้วยตัวเอง โดยร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อลดรายจ่ายด้านงบประมาณลงให้ได้โดยเร็ว พร้อมกันนี้ยังให้พิจารณาจัดทำมาตรการลดต้นทุนต่าง ๆ ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพสามารถแข่งขันในตลาดได้
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 188.95 ล้านบาท สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกของปีการผลิต 60/2561 จำนวน 220,000 บาท และปีการผลิต 61/2562 จำนวน 188.73 ล้านบาท ในส่วนที่ยังไม่ได้รับการเบิกจ่าย ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่อนุมัติไว้เดิม โดยให้เบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น
สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตข้าว โดยมีปริมาณเป้าหมายรวม 5 ล้านตัน ระยะเวลา 2 – 6 เดือน รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยผ่านธนาคารที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้า ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการเก็บสต๊อกไว้ในอัตรา 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาตอ เป็นผู้อนุมัติจำนวนเงินชดเชย