แผนฟื้นฟูการบินไทยต้องยื่นคำร้องต่อศาลสัปดาห์หน้า … เปิด 5 ตัวเต็งประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟู ประสบการณ์โชกโชนไว้เจรจากับเจ้าหนี้

  • แนะรีบจัดทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จสัปดาห์หน้าเพื่อยื่นคำร้องเสนอศาลล้มละลายกลาง
  • เพราะเริ่มผิดนัดชำระหนี้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ 2-3 ราย
  • หากปล่อยเวลายืดออกไปจะเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้าซื้อมาซื้อการบินไทยในราคาถูก
  • เผย 5 รายชื่อตัวเต็งชุมพล ณ ลำเลียง, วิชิต สุรพงษ์ชัย, บัณฑูร ล่ำซำ, ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และ ชายน้อย เผื่อนโกสุม

มีรายงานว่าสถาบันการเงินเจ้าหนี้ แสดงความเห็นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ปรับคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ดใหม่ ก่อนที่สัปดาห์หน้าจะต้องแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู เพื่อยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางระบุผู้มียศทหารไม่ควรอยู่ในบอร์ดอีกต่อไป ขอให้นายกรัฐมนตรีเห็นแก่ประโยชน์ประเทศ และการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมากกว่าความเป็นทหารด้วยกัน

ในเวลาเดียวกัน หนึ่งในคณะกรรมการ คนร.ให้ความเห็นว่า ควรให้ กระทรวงคมนาคม เข้ามามีบทบาทในการติดตามการดำเนินงานตามแผนที่ได้เสนอผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้แล้ว เนื่องจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีความชัดเจนในการแก้ปัญหามาก และตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า

นอกจากนี้ยังมีการเสนอชื่อหัวหน้าทีมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการบริหารแผนฟื้นฟูด้วยว่า ต้องมีความรู้ในเรื่องของธุรกิจการบิน เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจสมัยต้มยำกุ้งมาแล้ว สามารถบริหารเงิน บุคลากร และบริหารเจ้าหนี้-ลูกหนี้ที่อาจมีจำนวนกว่าร้อยรายได้ โดยต้องเป็นผู้ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เห็นแก่หน้าใคร

ทั้งนี้ บอร์ดการบินไทยไม่ควรเป็นผู้บริหารแผนเอง เพราะดำเนินงานผิดพลาดมาในอดีตแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลจำเป็นต้องจ้างมืออาชีพจากต่างประเทศเข้ามาร่วมจัดทำแผนฟื้นฟูด้วย

โดยผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาได้แก่ นายชุมพล ณ ลำเลียง อดีตเอสซีจีกรุ๊ปและกรรมการของกองทุนเทมาเสก, นายวิชิต สุรพงษ์ชัย นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์, นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตซีอีโอ ปตท.และนายชายน้อย เผื่อนโกสุม อดีตผู้บริหารไทยออยล์ เป็นต้น

ถ้าไม่รีบเสนอศาลสัปดาห์หน้า อาจเสี่ยงจากการที่มีผู้มีความสามารถทางการเงิน เข้าซื้อกิจการของการบินไทยในราคาต่ำไปได้ โดยเฉพาะเมื่อตราสารหนี้บางรายการของการบินไทย Default หรือผิดนัดชำระหนี้กับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ 2-3 รายไปแล้ว โดยหนี้ของการบินไทยทั้งหมดจำนวนประมาณ 300,000 ล้านบาท เป็นหนี้ต่างประเทศครึ่งหนึ่งหรือ 150,000 ล้านบาท