เปิดเบื้องลึกศึกประลองกำลัง​ 2 ขั้วบอร์ดผ่านเกมเลือกเลขา “กสทช.”

ภารกิจเลือกเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตำแหน่งแม่บ้านใหญ่ขององค์กรอิสระ ที่ว่างเว้นมากว่า 3 ปี ยังไม่มีข้อสรุป แม้ว่าจะมีแรงดันสุดกำลังจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หรือ “หมอไห่” ประธานบอร์ด  ยึดอำนาจจัดการกระบวนการสรรหา เดินเกมประกาศการคัดเลือก มีทั้งตัวเต็ง ตัวหลอก เข้ามาสมัคร และเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ จำนวน 8 คน เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา 

การแสดงวิสัยทัศน์ของทั้ง 8 คน “หมอไห่” เปิดเทียบเชิญบอร์ดทั้งหมดเข้าร่วมด้วย ช่วงแรกดูเหมือนกลุ่มบอร์ดเสียงข้างมาก 4 คน ที่ประกอบไปด้วย นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์) น.ส.พิรงรอง รามสูต กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. (ด้านกิจการกระจายเสียง) และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.(ด้านกิจการโทรคมนาคม) จะมีทีท่าไม่ร่วมวงด้วย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับประธาน กสทช.ในการคุมเกมเองทั้งหมด จะมีเพียงกลุ่มบอร์ดเสียงข้างน้อย 3 คน นำทีมโดย “หมอไห่” และ กสทช.อีก 2 คน พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. (ด้านกฎหมาย) และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) 

“ตัวเต็ง” ว่าที่เลขาธิการ กสทช.จากบรรดารายชื่อผู้สมัครในคราวนี้ หนีไม่พ้น นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาฯ กสทช. ที่ได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดเสียงข้างน้อย ให้คงตำแหน่งรักษาการ เลขา กสทช. แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจาก 4 บอร์ดเสียงข้างมาก ที่ให้ปลดจากสถานะรักษาการ จาก “พิษบอลโลก” ในเรื่องการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งกลุ่ม 4 บอร์ดเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัย 

การไม่มี กลุ่ม 4 บอร์ดเข้าร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้แนวโน้มบทสรุปของการคัดเลือกจะได้ข้อสรุปในวันที่ 20 ก.ค.ทันที เพื่อเสนอชื่อ “ตัวเต็ง” เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าที่ประชุมบอร์ด ซึ่ง

แต่ท้ายที่สุดแผนการต้องเปลี่ยน เมื่อกลุ่ม 4 บอร์ดเสียงข้างมากตัดสินใจแจ้งร่วมเข้าฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของบรรดาผู้สมัครด้วย 

เกมเปลี่ยน แผนสะดุด 

ก่อนเข้าร่วมประชุม ประธาน กสทช. ขอให้บอร์ดทุกคนที่จะเข้าร่วมประชุมส่งซองคำถาม คนละ 1 ซอง โดยระบุกฎกติกา แบบการคัดเลือกนางงาม เพื่อให้ บรรดาผู้สมัครเลือกซองคำถามเพื่อตอบคำถามเพียง 1 คำถามเท่านั้นหลังที่แสดงวิสัยทัศน์เสร็จแล้ว  หวังจะควบคุมเกมในการคัดเลือกให้เป็นไปตามแผนเดิม

แต่สถานการณ์ในห้องประชุม ไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย เมื่อกลุ่มบอร์ดเสียงข้างมากยืนยันว่า ผู้สมัครทุกคนต้องตอบคำถามเพิ่มเติมจากบอร์ด และที่น่าเหลือเชื่อเมื่อ “ตัวเต็ง” ได้เลือกซองคำถามจากบอร์ดเสียงข้างน้อย ได้ตอบคำถามจากซองคำตอบตามเอกสารที่ได้เตรียมตัวมาอย่างดี ตอบได้ครอบคลุมครบถ้วน แต่ไม่สามารถตอบคำถามได้ เมื่อต้องเจอกับคำถามสดๆในห้องประชุม 

รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. 

1.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ :อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อดีตผู้สมัครตำแหน่งบอร์ด กสทช.

2.นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล : รองเลขาฯ กสทช.

3.พ.อ.ธนัทเมศร์ ภัทรณรงค์รัศม์  : กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด)

4.นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ : ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) (พี่ชายนายกีรติ อาภาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการรองเลขาฯ กสทช. สายงานวิชาการ) 

5.ผศ.พิเศษ พลวรรธน์ วิทูรกลชิต :อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายเทคโนโลยี ธ.กรุงไทย

6.รศ.พิสิฐ บุญศรีเมือง : อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

7.นายพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา : อดีตผู้อำนวยการด้านโลจิสติกส์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จํากัด อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด

8.นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน : รองเลขาฯ กสทช. สายงานโทรคมนาคม

9.นางสุรางคณา วายุภาพ : อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA และอดีตผู้สมัครตำแหน่งบอร์ด กสทช. 

  • หมายเหตุ นายพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ไม่มาแสดงวิสัยทัศน์

ภาพรวมของบรรดาผู้สมัครทั้ง 8 คน มีทั้งผู้สมัครที่เป็นคนในกสทช. ในตำแหน่งรองเลขาฯ กสทช. อดีตผู้สมัครบอร์ด กสทช. และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ พบว่า ทุกคนต่างมีแนวทางในการแสดงวิสัยทัศน์ที่เตรียมมาของตัวเอง และเมื่อเจอกับคำถามเพิ่มเติมที่ไม่ได้เตรียมมาก็จะสะท้อนทัศนคติ แนวความคิดของแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น คนในกสทช.จะมุ่งเน้นเรื่องบทบาทการทำงานในกสทช.ที่ผ่านมา ผู้สมัครที่เคยสมัครบอร์ดกสทช. ก็จะแสดงความคิดในบทบาทของการเป็นบอร์ด เช่นเดียวกับที่เคยสมัครเป็นบอร์ด กสทช. มากกว่าในบทบาทของการเป็นเลขาฯกสทช. 

โดยภาพรวมจึงดูเหมือนว่า สถานการณ์ในห้องประชุมนี้ ยังไม่มีใครโดดเด่นเหนือใคร แม้ว่าจะไม่มีการโหวตให้คะแนนในที่ประชุม แต่ก็ทำให้เบื้องต้นไม่มีการเปิดเผยข้อสรุปการคัดเลือกผู้โดดเด่นที่สุดในรอบนี้ ผิดแผนไปจากเดิมที่ “หมอไห่”ตั้งเป้าไว้ว่า ต้องประกาศเสนอ 1 รายชื่อให้ได้

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายแล้ว การเลือกเลขานุการ กสทช.นั้น จะต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ด กสทช. ซึ่งบอร์ดชุดเดิมที่ผ่านมา มีการคัดเลือกโดยการโหวตในที่ประชุม 

ในเมื่อสถานการณ์ปัจจุบัน บอร์ดแตกเป็น 2 ฝ่าย เสียงข้างน้อย 3 เสียง และเสียงข้างมาก 4 เสียงที่ต่างจับมือกันแน่น

บอร์ดเสียงข้างน้อย นำทีมโดย “หมอไห่” ประธานบอร์ด กสทช. ที่ตอนนี้มี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประธาน กสทช.เป็นกุนซือ ทุก movement มาจากการวิเคราะห์ศึกษางานด้านกฎหมาย จากประสบการณ์ของ พ.ต.อ.ประเวศน์ จากประวัติอันโชกโชนในงานด้านนี้ 

ประวัติ พ.ต.อ.ประเวศน์

  • นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 34 ก่อนขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีความผิดต่อความมั่นของรัฐ มาตรา 112 เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีบุกรุกพื้นที่เขาแพง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปี 2562  ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข. 

เมื่อเป้าหมายคือ ต้องผลักดันการเลือกเลขาจากผู้สมัครในชุดนี้ แต่เสียงยังเป็นรองในที่ประชุมบอร์ดที่มี 7 เสียง หากองค์ประชุมครบ แบ่งเป็น 4 เสียงข้างมาก และ 3 เสียงข้างน้อยจากฝ่ายประธาน กสทช. คงไม่มีทางจะชนะ ดันคนที่ต้องการไปตำแหน่งเลขาฯ กสทช.ได้แน่

อย่างไรก็ตามโอกาสของฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ยังมี หากวันไหนองค์ประชุมบอร์ดไม่ครบ 7 คน เช่นเหลือ 6 คน ตำแหน่งประธาน สามารถใช้สิทธิ “ดับเบิ้ลโหวต” โหวตเมื่อเสียงในห้องประชุมเท่ากันได้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาประธานบอร์ดเคยใช้สิทธิโหวตครั้งที่ 2 หลายครั้งในการประชุมประเด็นใหญ่ เช่น กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค กรณีการให้เงินสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก รวมถึงการเดินหน้าสรรหาเลขาฯ กสทช. แต่โอกาสลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อาจจะต้อง “สร้าง” โอกาสขึ้นมาเอง

หนึ่งในช่องทางของการสร้าง “ดับเบิ้ลโหวต” คือ ทำอย่างไรให้ฝ่ายบอร์ดเสียงข้างมากจาก 4 เสียง เหลือเพียง 3 เสียง ทั้งจากการไม่มาประชุม หรืออาจจะอยู่ในรูปแบบที่มาประชุมแต่ออกเสียงไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขต่างๆแล้วแต่ว่าจะวางแผนงัดกลยุทธ์ใหม่ๆขึ้นมาใช้อย่างไร 

ช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ น่าสนใจว่า ทั้งสองฝ่าย ทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย จะเดินเกม รับมือกันอย่างไร  

ระยะเวลาระหว่าง “รอ” เวลาที่เหมาะสม จึงเป็นช่วงที่มีกลยุทธ์ทั้งช่องทางปกติ และ “ใต้ดิน” จัดเตรียมสู้กันเต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงนี้ มีการออก “จดหมายสนเท่ห์” โจมตีกันไปมา พุ่งเป้าตรงไปที่เรื่องราวข้อครหาในอดีตเกี่ยวกับโครงการใหญ่ในสำนักงาน กสทช.ของบอร์ดคนหนึ่ง และอีกฉบับระบุการขาดคุณสมบัติของแคนดิเดด เลขาฯ กสทช. ส่งตรงไปยังฝ่ายบริหารใน กสทช.

รวมถึงการที่ประธาน กสทช.ออกคำสั่งผ่านรักษาการเลขาฯ กสทช. ฉบับล่าสุดวันที่ 24 ก.ค.66  รวบอำนาจสั่งการ ‘พนักงาน กสทช.’ เบ็ดเสร็จ โดยระบุว่ากฎหมายสั่งห้าม กรรมการ กสทช. ทั้ง 6 คน มอบหมาย สำนักงาน กสทช.-พนักงาน ปฏิบัติหน้าที่ โดยตรง พร้อมเตือนหากฝ่าฝืนแนวปฏิบัติใหม่ ต้องโดนลงโทษทางวินัย ที่มองว่าเป็นหนึ่งในช่องทางลดทอนอำนาจการทำงานของบอร์ดทั้งหมด 

สถานการณ์ในบอร์ด กสทช. ที่ไม่ลงรอยกัน นับวันเริ่มบานปลายต่อเนื่อง ตำแหน่งเลขาฯ กสทช. จึงกลายเป็นจุดที่ต่างฝ่ายต่างยอมกันไม่ได้ ด้วยความสำคัญของตำแหน่งนี้ในฐานะ “แม่บ้าน” กสทช. รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินรายได้ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีวงเงินมหาศาล

นอกจากนี้เลขาฯ กสทช. ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. ซึ่งต้องรับผิดชอบงบประมาณเงินกองทุน และตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO อีกปีละนับหมื่นล้านบาท

เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน สถานการณ์แบบบนี้ยิ่งปล่อยให้ยืดยาว ลากยาวกันต่อไปจนยากที่ทั้งสองฝ่ายจะกลับมาร่วมมือกันทำงานต่อไปได้ ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับทั้งองค์กร 

ทางออกที่น่าจะดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลือต่อไปอีกกว่า 5 ปีของวาระบอร์ดกสทช.ชุดนี้ น่าจะเป็นช่องทาง “กฎหมาย” มาชี้ขาด ทั้งเรื่องที่ต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายละเว้น การปฎิบัติหน้าที่ หรือตีความอำนาจการทำงานในบทบาทบอร์ด กสทช. จะได้เคลียร์ข้อสงสัยที่มีระหว่างกันตลอดที่ทำงานร่วมกันมาเสียที และหันมาเดินหน้าปฎิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็นเสียที