เปิดปมขบวนการปั้นงบพืชสวนโลก เติมสิ่งก่อสร้างไม่ลืมหูลืมตา



เปิดปมขบวนการปั้นงบพืชสวนโลก เติมสิ่งก่อสร้างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งที่สมาคมพืชสวนโลกกำหนดให้มีสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 10%ของพื้นที่

  • กระทรวงเกษตรฯงัดกับอบจ.อุดรธานี
  • สมาคมพืชสวนโลกเตือนไทยแล้วว่าล่าช้า
  • คณะกรรมการระดับรัฐบาลไม่เคยเรียกประชุมเลย 2 ปี

นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2569 ที่จังหวัดอุดรธานีที่มีการของบประมาณเพิ่มขึ้น ว่า เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ หน่วยงานและภาคส่วนต่างของจังหวัดมีความต้องการในการพัฒนาดังนั้นทุกกระทรวงต้องเรียงลำดับความสำคัญ เพราะที่มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วไม่อยากให้มีการของบประมาณมากขึ้น แต่ควรอยู่ในกรอบงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องกรอบวินัยการเงินการคลัง

“อะไรที่ดูแล้วเหมาะสมก็ต้องทำ แต่อะไรไม่เหมาะสมก็ต้องถูกตีกลับไปพิจารณากันใหม่ เพราะหลายกระทรวงก็มีความต้องการ เรื่องบางอย่างไม่ต้องการงบประมาณก็สามารถทำได้  จึงอยากให้รัฐมนตรีทุกท่านโฟกัสในจุดนี้ด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมถึงการแก้กฎกติกา บางอย่างที่ไม่ต้องการงบประมาณก็สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้ เรามาทำงานวันนี้เพื่อประชาชน เรื่องความต้องการของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดงานมหกรรมพืชผลโลกมีการของบประมาณเพิ่มเท่าตัวและเหลือเวลาอีก 3 ปี จะมีการเพิ่มงบประมาณให้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกใจ เมื่อวานนี้ (8 กันยายน 2566) เป็นการมารับฟังความคืบหน้า ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 ปี ก็ต้องดูให้ดี หากสร้างไม่ทันก็จะเป็นปัญหา เชื่อว่าทุกคนมีความกังวล แต่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด( อบจ.)บอกแล้วว่าเป็นผู้นำเสนอ และทางกรมวิชาการเกษตรก็ต้องกลับไปช่วยกันดูให้เหมาะสม ลดค่าใช้จ่ายทำให้อยู่ในกรอบงบประมาณที่สามารถทำได้ หาเพิ่มมานิดหน่อยก็น่าจะสามารถพิจารณาได้ แต่สำคัญที่สุดคือจุดเริ่มต้น จะต้องเริ่มแล้วไม่เช่นนั้นไม่ทันและจะเป็นการเสียหน้า

“หวังว่า อบจ.จะเข้าใจ เพราะทุกภาคส่วนต้องการงบประมาณหมด บางนโยบายก็เป็นเรื่องยาก จึงบอกว่าอยากลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเพื่อมารับฟังปัญหา หลายเรื่องยังไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูด อาทิ เรื่องปัญหายาเสพติด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงานพืชสวนโลกครั้งนี้ มีขบวนการทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น และล่าช้ากว่ากำหนดเป็นปี และไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของสมาคมพืชสวนโลก(International Association of Horticultural Producers : AIPH) นอกจากนี้คณะกรรมการระดับรัฐบาลไม่เคยเรียกประชุมติดตามงานเลยเป็นเวลา 2 ปี  ปล่อยให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง จนเกิดแย่งงาน ขัดขวางกันไปมา ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี การประมูลออกแบบจัดหลายครั้งกว่าจะได้แบบ พอได้แบบแล้วก็พยายามแก้แบบกันตามที่ฝ่ายตนเองอยากได้ งานทุกอย่างเลยต้องรอแบบสุดท้าย ส่วนงบประมาณที่เพิ่มมา 3,000 ล้านบาท จากเดิม 2,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 5,500 ล้านบาท เพราะเพิ่มเติมสิ่งก่อสร้างไปมากๆ ทั้งที่สมาคมพืชสวนโลกกำหนดให้มีสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 10%ของพื้นที่ และตอนนี้ก็เตือนว่าไทยล่าช้าแล้ว

ทั้งนี้ทางAIPH ได้ประกาศการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) ภายใต้แนวคิด Diversity of Life: Connecting people, water and plants for sustainable living หรือ ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต: สายสัมพันธ์แห่งน้ำ พืชพรรณ และผู้คนสู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” อันสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของจังหวัดอุดรธานี ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้คนในท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน พื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ตั้งอยู่ที่ ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี เนื้อที่ประมาณ 975 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำ 400 ไร่ และพื้นดินประมาณ 575 ไร่เศษ ระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 เป็นเวลา134 วัน

อย่างไรก็ตามเมื่อเสร็จการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 แล้ว ทางจังหวัดอุดรธานีมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงตอนบน