เปิดเงื่อนไข…ต่ออายุพักหนี้

คำถามจากคนมีหนี้ ว่า จบโครงการ “พักหนี้” ของแบงก์ชาติ ในวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายได้ ยังกลับมาผ่อนส่งไม่ไหว อยากขอ “พักหนี้” ต่อจะทำได้หรือไม่

คำตอบแบบเศรษฐกิจคิดง่ายๆ คือ ถ้าวันนี้ยังไม่มีเงินส่งจริงๆ จะ “พักหนี้” ต่อ ก็ยังพอมีช่องที่จะสามารถทำต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

แต่ (มีแต่) ..แต่ต้องเข้าใจว่า การพักหนี้  ถึงแม้จะจะหยุดส่งต้น ส่งดอกเบี้ย แต่ไม่ได้แปลว่า “เจ้าหนี้หยุดคิดดอกเบี้ย”  หรือทุกอย่างถูกฟรีซ หรือแช่แข็งไว้ที่เดิม

โดยหากเดิม เราเคยผ่อนส่งหนี้เดือนละ 10,000 บาท จ่ายในส่วนต้น 6,000 บาท จ่ายดอกเบี้ย 4,000 บาท  เมื่อเรา “พักหนี้” ไม่ส่งต้น ส่งดอก ส่วนเงินต้นเงินไม่มีส่ง ก็ไม่ลดอยู่คงเดิม ส่วนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกฺยังเดินบัญชีต่อไป ในทุก วันทุกเดือนที่เราพักหนี้ เจ้าหนี้ยังคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเดิมของเราต่อไปเรื่อยๆ

คิดง่ายๆ คือ จากกรณีีนี้ ถ้าเราพักหนี้ 1 เดือน จะมีดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายเพิ่มให้เจ้าหนี้  3,000 บาท ซึ่งถ้าเราขอพักครั้งแรกไปแล้ว 6 เดือน และจะขอพักเฟส 2 ต่ออีก 6 เดือนรวมเป็น 1 ปี 

เท่ากับเราจะต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นฟรีๆ จากการคิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักหนี้อีกรวมทั้งสิ้น 48,000 บาท หรือ 4,000 บาท คูณ 12 เดือน 

ดังนั้น ถ้ายังพอไหวก็ขอให้ผ่อนต่อจะมีประโยชน์ต่อตัวเองและระบบเศรษฐกิจมากกว่า ถ้าคำนวณแล้ว พบว่าจากเคยผ่อนเดือนละ 10,000 บาท วันนี้ผ่อนได้เดือนละ 2,000 บาท  หรือเดือนละ 1,000 บาท ก็อยากให้เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร หรือบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้

ระบุไปเลยว่า ตอนนี้เราผ่อนไหวเดือนละเท่านี้ จะช่วยปรับลดวงเงินผ่อนส่ง ลดดอกเบี้ยลง ยืดเวลาการชำระหนี้ให้ได้อย่างไรบ้าง แสดงเจตนารมย์ให้ชัดเจนว่า เราไม่ได้อยากเบี้ยวหนี้ แต่เราได้รับผลกระทบ

เชื่อเถอะว่า แม้เราไม่ได้อยากเป็น “หนี้เสีย”มากแล้ว แบงก์หรือเจ้าหนี้เองก็ไม่อยากให้เราเป็นหนี้เสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ ไม่มีรายได้” เข้่ามาจริงๆ ขณะที่ “เงินเก็บ” ก็เริ่มที่จะร่อยหรอ หลังผ่านช่วงการล็อกดาวน์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 มาเข้าสู่เดือนที่ 7 

หากต้องการที่จะ “พักหนี้” ต่อ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติก็เปิดช่องให้ทั้งเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ เจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) รวมทั้ง หนี้ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดา หรือลูกหนี้เอสเอ็มอี  เป็นหนี้ที่ยังผ่อนได้ตามปกติ หรือเป็นหนี้เสียที่ขาดส่งมาครบ 3 เดือน

โดยในส่วนของหนี้ดี หรือหนี้ที่ยังขาดส่งไม่ถึง 3 เดือน หนี้ไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น 

สำหรับ ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ ให้เวลาลูกหนี้ยังไม่สามารถกลับมาผ่อนส่งหนี้ได้ มาเจรจาหาทางแก้ไขสถานการณ์การชำระหนี้ หรืแแก้หนี้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31ธ.ค.63 โดยระหว่างเวลาดังกล่าวลูกหนี้จะได้รับการพักหนี้ต่อไป โดยเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ หรือ คิดค่าปรับใดๆเพิ่มเติมกับลูกหนี้ในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ นี้

ทั้งนี้ หากเจรจาแล้ว ไม่มีเงินผ่อนจริงๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้เจ้าหนี้สามารถพักหนี้ต่อให้ได้เป็นเวลาอีก 6 เดือน หรือจนสิ้นเดือนมิ.ย.ปี 64  และจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.หากลูกหนี้ไม่ได้รับการติดต่อเพื่อแก้ปัญหา สถาบันการเงินเจ้าหนี้คงต้องจัดชั้นหนี้ใหม่ และมีโอกาสที่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

ขณะที่ ลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  กระทรวงการคลังให้ดำเนินการพักหนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่งเช่นกัน  รวมทั้งให้เร่งรัดเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการให้ความช่วยเหลือสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือ เงินลงทุนเพิ่มเติม  เพื่อช่วยรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป

ธนาคารออมสิน ได้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีกถึงสิ้นเดือนธ.ค.63 สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 3 ล้านราย 

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เพิ่มอีก 1 ปี หลังสิ้นสุดมาตรการ 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยลูกค้าต่อให้ถึงเดือนม.ค.64 

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ขยายเวลาพักชำระเงินต้นออกไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดเดือนมี.ค.64

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ขยายเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ตามประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยง 

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)  ผ่อนปรนช่วยเหลือลูกหนี้รายบุคคลต่อ ตั้งแต่เดือนต.ค.63-มิ.ย.64 

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พักชำระค่างวดต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งเอสเอ็มอียื่นคำร้องได้ถึงเดือน ธ.ค.63  

ใครเป็นลูกหนี้ที่ไหน ติดต่อที่สถาบันการเงินที่ตนเองเป็นหนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดให้กับธุรกิจ หรือบรรเทาภาระค่าครองชีพของตัวเองลง

ส่วนรายใดที่กลายเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ท่ี่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไปแล้ว คงต้องปรึกษาที่ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ว่าจะสามารถช่วยได้อย่างไรบ้าง

โดยลูกหนี้เอ็นพีแอลที่พิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ จะรับการผ่อนปรนให้ “พักชำระหนี้”ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยไม่ถือว่าผิดนัด ประวัติจะไม่เสีย  ในขณะที่ลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง ได้รับการลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่จะขอพักชำระหนี้ต่อ จะต้องขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิในช่วงที่ 2  จากเดิมให้สิทธิแก่ลูกหนี้ทุกรายเป็นการทั่วไป โดยสามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านในเวปไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com และกรอกข้อมูลแสดงความจำนงผ่านเข้ามา โดยกำหนดต้องแจ้งเข้ามาภายในเดือน พ.ย.63 ขณะที่ลูกหนี้ที่ยังพอชำระค่างวดได้ เมื่อเข้าโครงการแก้หนี้จะลดดอกเบี้ยให้ 1-2% ตามความสามารถในการชำระหนี้

“ประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่จะสมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้จนถึงมิ.ย. 2564”

ทุกปัญหามี “ทางออก” เสมอ เพียงแต่ระหว่างทางอาจจะต้อง “เจ็บปวด”บ้าง เป็นกำลังใจให้พวกเรามีความกล้าหาญที่จะเผชิญความจริง และผ่านพ้นวิกฤตของชีวิตครั้งนี้ไปได้ในที่สุด

#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ #พักหนี้ #Thejournalistclub