เปิดวิสัยทัศน์…มุมคิด “จรีพร จารุกรสกุล” มองวิกฤติเป็นโอกาส ผู้นำ WHA ให้ก้าวเร็วกว่าคนอื่นเสมอ

“เราไม่กลัว Disruption!! ธุรกิจของ WHA ต้องไม่ถูก Disrupt กระแสดิจิทัลเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว เรากลับมองว่านี่เป็นโอกาสของธุรกิจ โอกาสในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจที่จะทำให้ WHA เติบโตได้เร็วขึ้น”

     กลยุทธ์ของ WHA จะ turn to technology base มากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าและบริการให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น นักลงทุนเพียงหิ้วกระเป๋ามาลงทุน จะได้รับบริการจาก WHA ที่เบ็ดเสร็จทันสมัย ครบวงจร”

     “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ให้สัมภาษณ์ “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ”  ถึงวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจที่ทำให้ WHA  โดดเด่น..แตกต่าง..เป็นผู้นำและก้าวเร็วกว่าคนอื่น!!

จรีพร จารุกรสกุล

.ไทยต้องได้โอกาสจากสงครามการค้า                              

     หากย้อนกลับไปราว 5 ปีที่แล้ว ที่ WHA เข้ามาระดมทุนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2557 ด้วยธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์  มีมูลค่าบริษัทที่คำนวนจากมูลค่ามาร์เก็ตแคปเมื่อวันเริ่มเข้าตลาดเพียง 6,000 ล้านบาท ก่อนจะเติบโตสยายปีกขยายธุรกิจ

     จนถึงปัจจุบันธุรกิจในกลุ่ม  WHA มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปมากกว่า 60,000 ล้านบาท แต่หากนับรวมกับมูลค่ากองทรัสต์และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในโรงงานและคลังสินค้ารวมๆแล้ว มีมูลค่ารวมกันกว่าแสนล้านบาท!!  

     และวันนี้ท่ามกลางการหลั่งไหลของเทคโนโลยีดิจิทัล WHA  ไม่เพียงแต่ไม่กลัวการถูก Disrupt และใช้โอกาสจากโลกยุคดิจิทัลเทคโนโลยีในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจ   WHA ยังไม่หวั่นไหวกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา 2 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ ที่กำลังสั่นคลอนการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกให้ปั่นป่วน

     “จรีพร” มั่นใจว่า ประเทศไทยต้องได้โอกาสจากสงครามการค้าครั้งนี้ ทั้งนักลงทุนกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนและนักลงทุนกลุ่มเดิมที่จะเข้ามาต่อเนื่อง ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมรองรับหรือรับมือให้ดี

     เพราะนักลงทุนต่างชาติที่ไปปักหลักลงทุนที่จีน บางส่วนจะต้องย้ายฐานออกมาจากจีน รวมทั้งกลุ่มทุนจีนเองด้วยที่ต้องออกมาลงทุนนอกประเทศ โดยขณะนี้เป้าหมายการลงทุนอยู่ที่ไทยกับเวียดนาม

     แต่โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุนของไทยดีกว่าเวียดนามมาก แม้เวียดนามจะมีแรงงานเยอะและค่าแรงที่ถูกกว่า แต่แรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่ดีกว่า และไทยยังมี supply  base หรือฐานการผลิตหลายอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับหรือสนับสนุนการลงทุนที่ต่อเนื่องกันได้

     “เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงตลอดครึ่งปีนี้ นักลงทุนจีนและไต้หวันเข้ามาลงทุนในไทยมากกว่ากลุ่มทุนชาติอื่น  เพราะจีนยกให้ไทยเป็น Hi class ในการลงทุน โดยให้เหตุผลว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเมืองไทยยังมีความมั่นคงสูง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ขณะที่มีโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพของแรงงานที่ดีกว่า รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ดี เช่น สิ่งแวดล้อม อาหาร ผู้คน และความปลอดภัย เป็นต้น”

     ที่สำคัญการมาปักหลักลงทุนในไทย ยังสามารถส่งออกสินค้าขายให้กับประเทศในอาเซียน ที่กำลังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีได้ด้วย เพราะประเทศเหล่านี้ให้การยอมรับกับมาตรฐานสินค้าไทยมากกว่า!!

.หนุนEEC ขับเคลื่อนประเทศ

     นอกจากนั้น การมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ที่มีศักยภาพในการรองรับการลงทุน ที่รัฐบาลได้วางรากฐานและยุทธศาสตร์ไว้อย่างดี ยังเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแกร่ง ที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนได้

     “จรีพร” บอกว่า  WHA ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการสนับสนุนและผลักดันโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ และมั่นใจว่าเป็นโครงการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศในยุคถัดไป  

     โดยมองว่า ในส่วนพื้นที่ตั้งที่มีความเหมาะสม และมีโครงสร้างพื้นฐานจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อรองรับและมีมาตรการกระตุ้นจูงใจนักลงทุน  ก็ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก ทำให้นักลงทุนมั่นใจและสามารถดึงอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก (S-Curve) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคต่อไปได้ 

     “เราสนับสนุนและทำงานร่วมกับภาครัฐ ในโครงการ EECมาตลอด มั่นใจว่าเป็นโครงการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจประเทศได้ในอนาคต เพราะจะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้มหาศาล ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลต้องเดินหน้า EEC   เพราะประเทศชาติได้ประโยชน์และหาก EEC สำเร็จจะสามารถนำโมเดล  EEC  ไปปรับใช้เพื่อขยายไปทำกับพื้นที่อื่นๆของประเทศได้ด้วย”

     ทั้งนี้ ในพื้นที่ EEC ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมรวมกันอยู่ 21 แห่ง เป็นนิคมฯของ WHA 9 แห่งและล่าสุดได้เปิดนิคมฯแห่งใหม่ที่ฉะเชิงเทราเพื่อให้เป็น E-commerce park  โดยลูกค้ารายแรกที่เข้ามาคือ บริษัทในกลุ่มอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ชจากจีน ที่จะมาทำคลังสินค้า  เพราะต้องการใช้ไทยเป็นฮับในการขายและส่งสินค้าออกไปในอาเซียน ขณะเดียวกันก็จะเป็นศูนย์ส่งออกสินค้าจากไทยเข้าไปในจีน ซึ่งถือเป็นโอกาสของ E-commerce ไทยด้วยเช่นกัน

.ไม่ห่วงการเมืองรัฐบาลหลายพรรค

     ส่วนความกังวลเรื่องรัฐบาลใหม่ที่มาจากหลากหลายพรรคการเมืองนั้น “จรีพร”ให้ความเห็นว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล นักลงทุนรู้ดีว่าประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะในทางการเมือง ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดเข้ามาบริหารประเทศ เขาไม่ยุ่งกับการทำธุรกิจของเอกชน ซึ่งต่างประเทศเข้าใจและมั่นใจในเรื่องนี้ 

     “เราเดินสายโรดโชว์พบลูกค้าและนักลงทุนต่างประเทศ เขาไม่ถามเรื่องนี้เลย เขาสนใจแต่ว่า การมุ่งสู่เทคโนโลยี 4.0 ของไทยนั้น เราจะทำจริงมั้ย มีบุคลากรรองรับด้านนี้เพียงพอหรือไม่เท่านั้น”

     สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีบางส่วนวิตกกันว่าจะเป็นอุปสรรคและอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตนั้น จากการที่ได้เข้าไปศึกษาอย่างละเอียด ถือเป็นแผนที่ดีมาก ครอบคลุมการพัฒนาในทุกภาคส่วน ถ้าทำได้สำเร็จตามแผนจะดีมาก แต่ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่    เพราะการบริหารจัดการกระจายไปอยู่ในแต่ละกระทรวง

     ซึ่งความเห็นส่วนตัว อยากให้มีการตั้ง “กองทัพกลาง” ที่เป็นผู้รู้แผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างดี  มีอำนาจและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อคอยติดตามการดำเนินงาน ทั้งการใช้งบประมาณและการทำงานว่า แต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนสอดคล่้องไปด้วยกันตามแผนหรือไม่  โดยต้องเชื่อมโยงภาพการขับเคลื่อนของประเทศให้ได้เป็นภาพเดียวกัน 

     ทำให้แผนยุทธศาสตร์ชาติเกิดขึ้นได้จริง  จึงจะสามารถปฏิรูป (transform) ประเทศได้!!

.ทรานส์ฟอร์มสู่องค์กรเทคโนโลยี                

     เมื่อย้อนกลับมาโฟกัสที่ธุรกิจของ WHA  “จรีพร” กล่าวว่า วันนี้เห็นโอกาสการเติบโตในทุกด้าน จาก 4 กลุ่มธุรกิจของเรา คือ1.กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ 2.นิคมอุตสาหกรรม 3.ธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และ 4.กลุ่มธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม 

      ขณะที่เรากำลังทรานสฟอร์ม WHA สู่องค์กรเทคโนโลยี  โดยเป้าหมายการทำธุรกิจปีนี้ จะเน้นไปที่การยกระดับธุรกิจหลัก ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น และปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้และส่วนแบ่งกำไรทั้งกลุ่มไว้ที่ไม่ต่ำกว่า70%

     “จรีพร” ได้ฉายภาพการก้าวไปข้างหน้าแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างน่าสนใจ โดยเริ่มจากธุรกิจโลจิสติกส์ โรงงานและคลังสินค้าว่า จะมุ่งนำเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเข้ามาช่วย  เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Logistics และ  Smart Warehouse ที่มีการนำ Robotics  AI หรือ IOT (Internet of Things)มาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของ  WHA ขณะเดียวกันยังไปสู่เป้าหมายของการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับลูกค้าด้วย

     “ธุรกิจโลจิสติกส์ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ในการรองรับอี-คอมเมิร์ชที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาให้เราสร้างคลังสินค้า  ได้นำเทคโนโลยีไอที Robotics มาใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ชของเขาอย่างเต็มรูปแบบ”  

     ซึ่งปกติ โรงงานและคลังสินค้าของ WHA  มีจุดเด่นที่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น  เพราะเป็นการสร้างโรงงานและคลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า  โดยมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำของไทยและบริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาเป็นลูกค้าจำนวนมาก โดยปัจจุบัน WHA สร้างและพัฒนาคลังสินค้าและบริหารจัดการอยู่ 2.3 ล้านตารางเมตร และปีนี้เตรียมขยายพื้นที่อาคารคลังสินค้าระดับพรีเมี่ยมเพิ่มอีก 250,000 ตารางเมตร โดยมุ่งรุกลูกค้าในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การบินและอากาศยาน ขณะที่ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย

.นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

     สำหรับกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม หลัง WHA ได้ไปเทคโอเวอร์ บมจ.เหมราช พัฒนาที่ดิน และ เปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ. ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์นั้น มีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว  11 แห่ง อยู่ในไทย10แห่ง  และอีก 1 แห่งอยู่ในเวียดนาม มีที่ดินรวมกัน 68,500ไร่ พัฒนาแล้ว 40,000 กว่าไร่ 

     ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายที่ดิน 1,600 ไร่  ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) ทั้ง 12 กลุ่ม จากข้อได้เปรียบที่เรามีนิคมที่อยู่ภายใต้พื้นที่เขต EEC ถึง 9 แห่งรองรับการโยกฐานผลิตมาไทยได้อย่างดี

     ที่สำคัญก้าวของนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาพื้นที่แล้วขายเท่านั้น แต่เรามุ่งสร้าง  Smart Eco Business ให้กับลูกค้า  เพื่อนำไปสู่การเป็น “นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ” ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานระดับโลกภายในนิคมฯ

     ส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและพลังงาน ที่อยู่ภายใต้ บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์(WHAUP)นั้น เป็นบริการสาธารณูปโภคด้านพลังงานและน้ำ โดยขายน้ำปะปา น้ำดิบ และรับบำบัดน้ำที่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี ทั้งการผลิตน้ำด้วยระบบรีเวอร์สออสโมสิส และน้ำอุตสาหกรรมที่ปราศจากแร่ธาตุ  ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ รวมทั้งมีการคิดค้นนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เพื่อมุ่งไปสู่ การเป็น Smart Utility ในอนาคต

     ขณะที่ธุรกิจพลังงานนั้น นอกจากเรามีโรงไฟฟ้าที่ร่วมกับ พันธมิตรที่เป็นผู้นำด้านโรงไฟฟ้าทั้ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) และบมจ.บ.กริม เพาเวอร์ (BGRIM)ผลิตไฟฟ้าขายให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังได้ร่วมมือกับ มิตซุยและโตเกียวแก๊ส ลงทุนวางท่อส่งก๊าซภายในนิคมฯเพื่อขายก๊าซธรรมชาติให้กับลูกค้าภายในนิคมเองด้วย รวมทั้งยังได้มุ่งสู่พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่กำลังสร้างบนหลังคาโรงงานของลูกค้า รวมทั้งลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะในนิคมฯชลบุรี ซึ่งจะเปิดดำเนินการได้ราวเดือน พ.ย.นี้  

     โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการผลิต และจำหน่ายน้ำที่ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากปีที่แล้วขายได้ 105ลบ.ม.  และผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 570 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทน พร้อมเสริมนวัตกรรมระบบน้ำและพลังงานใหม่ๆ แก่ลูกค้า

.มุ่งสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

     ที่สำคัญ เรายังคงเดินหน้าศึกษาการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ  เช่น สมาร์ทกริด หรือระบบบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีไอที ระบบการจัดเก็บพลังงาน และโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โดยเราจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกที่ทำ Smart Micro Grid หรือสถานีไฟฟ้าย่อยอัจฉริยะเพื่อให้บริการกับลูกค้า

     สำหรับกลุ่มธุรกิจน้องใหม่ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาภายใต้บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัดนั้น ตั้งเป้าจะปรับโฉมทุกนิคมอุตสาหกรรมในเครือให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบในปีนี้  โดยปัจจุบันบริษัทมีดาต้าเซนเตอร์ทั้งหมด 4 แห่งเพื่อบริการลูกค้า และยังลงทุนสร้างติดตั้งสายไฟเบอร์ ออพติก เพื่อให้บริการเทคโนโลยีไฟเบอร์ออพติก (FTTx) ใน 5 นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่ม และมีเป้าหมายขยายให้ครอบคลุมทุกนิคมอุตสาหกรรมภายในสิ้นปีนี้

 “ธุรกิจน้องใหม่นี้ เป็นหัวหอกเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ ในศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆในเครือ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีและการสอดประสานเชื่อมโยงกันระหว่าง กลุ่มธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะเป็นทั้งความแข็งแกร่ง และศักยภาพของ WHA ที่จะผลักดันให้บริษัทเติบโตไปพร้อมกับลูกค้าและพันธมิตร”

ที่มา : หนังสื่อพิมพ์ไทยรัฐ