เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจี้รัฐคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เชื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กติดบุหรี่ไฟฟ้า

  • ยิ่งแบนยิ่งปล่อยเด็กเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าง่าย
  • เยาวชนในการเข้าถึงบุหรี่และกัญชา
  • จี้รัฐฯ ออกกฎหมายควบคุมให้เหมาะสมแทนการแบน

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ “ECST” และเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” กล่าวถึงกระแสข่าวที่พบเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปีใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นว่า “การแบนบุหรี่ไฟฟ้าป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ได้จริง แต่กลับทำให้เด็กแอบซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนจากตลาดใต้ดินและตลาดออนไลน์ได้ง่ายขึ้นอีกต่างหาก ทำให้ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยและยิ่งนานวันปัญหายิ่งมากขึ้น ซึ่งภาครัฐไม่สามารถวิ่งไล่จับหรือปราบปรามให้หมดได้โดยเฉพาะการเข้าถึงผ่านทางช่องทางออนไลน์”

“ทุกวันนี้เรามี พรบ. ควบคุมบุหรี่ ที่ห้ามโฆษณาสินค้า ห้ามไม่ให้คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อบุหรี่ได้ และร้านค้าที่จะขายก็ต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น ไม่ให้มีการขายออนไลน์ จำนวนเด็กที่สูบบุหรี่จึงมีอัตราต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนคนสูบบุหรี่ทั้งประเทศ แสดงว่าการมีกฎหมายควบคุมนั้นได้ผล หากมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมในลักษณะเดียวกัน เราเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ เช่นเดียวกับที่พรรคภูมิใจไทยและกระทรวงสาธารณสุขพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน”

จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุ 15 ถึง 19 ปีเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่เพียง 6.2% เท่านั้น ซึ่งเทียบกับกลุ่มอายุ 25 ถึง 44 ปีซึ่งมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 21% นับว่าต่ำกว่ามาก และกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีอัตราผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดในประชากรทุกกลุ่ม

นายมาริษกล่าวต่อว่า “เกือบ 80 ประเทศทั่วโลกใช้กฎหมายมาควบคุมเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนแทน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย อย.สหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อนุญาตการขายบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะสั่งให้ทางบริษัทเจ้าของสินค้าทำแผนการตลาดที่ไม่ดึงดูดเด็กและเยาวชนมาให้ตรวจสอบด้วย”

“ตอนนี้เริ่มมีหลายหน่วยงานที่มาศึกษาปัญหานี้ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กมธ. พาณิชย์ คณะอนุ กมธ. สาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสรรพสามิต กระทรวงดีอีเอส  เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ศึกษาจากตัวอย่างในต่างประเทศกว่า 70 ประเทศที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนและพิจารณาให้รอบด้านมากกว่ามิติด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวเพราะปัญหานี้มีความซับซ้อน ไม่อาจแก้ไขด้วยการแบนหรือการกดทับปัญหาเอาไว้โดยไม่ยอมรับความจริง เพราะทุกวันที่ผ่านไปเท่ากับเราปล่อยให้เด็กและเยาวชนหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น”