อุบัติเหตุการตกน้ำ จมน้ำ พบมากในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เน้นย้ำมาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น”

  • กรมควบคุมโรค เปิดผลโพลประจำสัปดาห์
  • เหตุการณ์จมน้ำ 184 เหตุการณ์
  • มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 174 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”ฉบับที่ 36/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 38 (วันที่ 18 – 24 ก.ย. 65) จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ระบบรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ Drowning Report กองป้องกันการบาดเจ็บ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กันยายน 2565 มีรายงานเหตุการณ์จมน้ำจำนวน 184 เหตุการณ์ โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 174 ราย ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการจมน้ำตายและจมน้ำจากอุบัติเหตุ พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แหล่งน้ำที่เกิดเหตุการณ์ ได้แก่ คลองและแม่น้ำ แหล่งน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรม ทะเล และสระว่ายน้ำ ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตจากการจมน้ำ ได้แก่ ว่ายน้ำไม่เป็น ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอด ลงเล่นน้ำโดยไม่แจ้งผู้ปกครองหรือไม่มีผู้ปกครองดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา ไม่มีป้ายเตือน ไม่มีสิ่งกีดขวาง

ทั้งนี้การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการตกน้ำ จมน้ำ ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน และจากการพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในวันที่ 17-20 ก.ย. 65 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก แหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำมากขึ้น ดังนั้น สถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำรวมถึงแหล่งน้ำต่างๆ ในชุมชน ควรมีมาตรการความปลอดภัย ได้แก่ ควรมีเสื้อชูชีพ ห่วงยาง การแบ่งโซนเล่นน้ำและกิจกรรมทางน้ำ การมีป้ายเตือน/ป้ายระบุเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ  อุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ สัญลักษณ์ธงแบบต่างๆ การบอกระดับความลึกของน้ำ รวมถึงการสร้างเสริมทักษะการให้เด็กเอาชีวิตรอดในน้ำ เช่น วิธีการลอยตัว ใช้ห่วงยาง โฟมลอยน้ำ หรือสวมเสื้อชูชีพ เป็นต้น   

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนทั่วไปในกรณีพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น”  คือ “ตะโกน” เรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669   “โยน” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำ และ  “ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ