“อุตสาหกรรม”ชู BCG Model พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น นำร่อง 16 จังหวัดภาคกลาง

  • ปั้นผู้ประกอบการ 37 ราย
  • เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
  • รักษาสิ่งแวดล้อม ลดของเสียได้เป็นจำนวนมาก

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจ BCG Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินโครงการนำร่องในเขตพื้นที่ภาคกลาง ภายใต้โครงการกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการส่งเสริมและพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 พบว่าได้รับความสนใจจากสถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากถึง 82 กิจการ และได้ดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการฯ ที่มีศักยภาพซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 37 แห่ง 

สำหรับสถานประกอบการมีความหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น ประเภทพลาสติก ปุ๋ยอินทรีย์/อินทรีย์เคมี ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง/เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการโรงแรม/รีสอร์ต เป็นต้น ใน 16 จังหวัดพื้นที่ภาคกลาง เพื่อเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการ โดยการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต และต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการ ภายใต้กรอบแนวคิด BCG Model ให้แก่ SMEs พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ด้าน Bio economy การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่าจากวัสดุชีวภาพ ด้าน Circular economy การนำของเสียกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ ด้าน Green economy การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดมลพิษ โดยผลการดำเนินโครงการสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 12.32 เท่าของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 52 ล้านบาท

โดยพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลาง เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น มีความเหมาะสมในการนำแนวทาง BCG Model เข้าไปประยุกต์ใช้ เพราะมีจุดเด่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภาคการผลิตแปรรูปที่เข้มแข็ง และศักยภาพเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และด้านโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก จึงได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่นำแนวทางเศรษฐกิจ BCG ไปใช้ให้เกิดผลสูงสุด ขณะเดียวกันยังเล็งเห็นโอกาสในการผลักดันและสนับสนุนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ดี และสอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ความตกลงปารีส) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว 

สำหรับการจัดกิจกรรมสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบแนวคิด BCG Model ครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย สถานประกอบที่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SMEs บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด และภูมิภาค ไม่น้อยกว่า 150 คน และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ ตัวแทนคณะที่ปรึกษาบรรยายภาพรวมและผลสำเร็จของโครงการฯ และตัวแทนของสถานประกอบการ จำนวน 6 กิจการ ที่มีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จและได้รับคัดเลือกเป็น success case มาเล่าประสบการณ์จริงในการเข้าร่วมโครงการและพัฒนาสถานประกอบการตามแนวทาง BCG Model จนประสบผลสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางให้สถานประกอบการอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและต่อยอดต่อไป เพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้มีความยั่งยืนในอนาคต