“อาคม”​ เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย พร้อมส่งไม้ต่อรัฐบาลใหม่ 5 ภารกิจขับเคลื่อนประเทศ

  • จับตาใกล้ชิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลกระทบต่อส่งออกของไทย
  • ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-ความเสี่ยงของธุรกิจสถาบันการเงิน
  • แนะแนวทางไทยต้องดำเนินการ อาทิ แนวนโยบายการเงินการคลังต้องสอดคล้องกัน การเติบโตอย่างยั่งยืน ดูเงินเฟ้อ
  • ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโมเดลใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2566 TEA Annual Forum 2023 “ถึงเวลา! ก้าวสู่ทรงใหม่ไทยแลนด์” ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เชื่อว่าจะเติบโต 3-4% ตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ถือเป็นปัจจัยภายนอก ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลกระทบต่อส่งออกของไทย ซึ่งไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องเดือน ม.ค.ปีนี้ ส่งออกติดลบ คำสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นไทยต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียน เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก 

2.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์  ในปีที่ผ่านมา กระทบต่อต้นทุนปัจจัยการผลิต ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงมาก และถึงแม้ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ เงินเฟ้อของไทยทยอยลดลงมาเหลือ 3% กว่า แต่ยังต้องจับตาต่อไป เพราะความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด และ 3.ความเสี่ยงของธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้มีปัญหาในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งต้องเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด 

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางที่ประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ 1.แนวนโยบายการเงินการคลังต้องสอดคล้องกันการเติบโตอย่างยั่งยืน ดูเงินเฟ้อ กับอัตราการว่าง 2. การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโมเดลใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัจจุบันมีต่างประเทศมาลงทุนในไทยเพียง 11 รายเท่านั้น ซึ่งไทยมีโอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้อีก ด้วยมาตรการจูงใจ ทั้งเรื่องภาษี วีซ่า และ ความมั่นคงของพลังงาน

3. การปรับโครงสร้างรายได้ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในประเทศ ที่ผ่านมารายได้ของไทยอยู่ที่ 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปกติอยู่ที่ 17-18% ต่อจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ จำเป็นต้องหาช่วงทางเพิ่มรายได้  ส่วนเรื่องการลงทุนของภาครัฐ จะต้องการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์กับการศึกษาพัฒนาทักษะแรงงานจากที่ผ่านมาเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 

4.การเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งสถาบกันการเงินจะเน้นการปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาดและพลังานแสงอาทิตย์ 5.นโยบายคาร์บอนเครดิต เพื่อลดโลกร้อน ถือเป็นแนวนโบายทั่วโลก 

นายอาคม กล่าวต่อว่า กรณีการปิดธนาคารในสหรัฐ 2 แห่ง และการเทคโอเวอร์กิจการธนาคารในสวิสเซอร์แลนด์นั้นจากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เบื้องต้นไม่มีผลกระทบต่อไทย เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง ส่วนค่าเงินบาทของไทย มีความผันผวน ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า ปัจจุบันอยู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับที่สร้างความกังวลแต่อย่างใด  

สำหรับกรณีที่เอกชนมองว่า ภายใต้รัฐบาลรักษาการจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจนั้นเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากภาคธุรกิจยังต้องเดินหน้าค้าขายต่อไป เพราะเศรษฐกิจหยุดเดินไม่ได้  ส่วนการขับเคลื่อนของภาครัฐ ยังมีโครงการต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน การลดภาษีน้ำมันดีเซลถึงส.ค.นี้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังคงเดินหน้าและรับสิทธิเช่นเดิม ซึ่งทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่หากเป็นโครงการลงทุนใหม่ๆ ต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา

ทั้งนี้ นายอาคม ยังกล่างถึงกรณีเครดิตสวิสว่าทำให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ภาคการเงินของไทยไม่มีปัญหา โดยทาง ธปท. ได้ออกมาพูดแล้วว่า ฐานะการเงินประเทศไทยยังเข้มแข็งพอ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศก็แข็งแกร่งอยู่ที่2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินก็อยู่ในเกณฑ์ดี หนี้เสียก็น้อยอยู่ที่ 2% กว่า ขณะที่พอร์ตการลงทุนของไทยในยุโรปนั้นแทบไม่มี หรือมีเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น

“เราห้ามไม่ได้เรื่องความตื่นตระหนก ถ้าขยายวงกว้างก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ชี้แจงไปแล้ว”