“อาคม”​ ชู 7 ประเด็นกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดันจีดีพี ปี65โต4%

  • ราคาน้ำมันแพง เป็นปัญหาระยะสั้น
  • ปรับดอกเบี้ยขึ้น ต้องรอเศรษฐกิจฟื้น
  • เชื่อแบงก์ชาติ พิจารณาถ้วนถี่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ ว่า ในช่วงต้นปี2565 ไทยประสบปัญหาค่าครองชีพและราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ถือเป็นปัญหาระยะสั้น ซึ่งรัฐบาล ได้เข้าไปกำกับดูแลบางส่วนแล้ว ทั้งการควบคุมราคาสินค้าหมวดอาหาร การตรึงราคาน้ำมันดีเซล การลดภาษีน้ำมันดีเซล  แต่ปัญหาราคาน้ำมันแพง เป็นปัญหาทั่วโลก เพราะมาจากปัจจัยความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซีย ซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก

“ขอย้ำถึงเหตุผลการลดน้ำมันดีเซลลงเพียงลิตรละ 3 บาท จากที่จัดเก็บลิตรละ 5 บาทนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลัง ต้องคำนึงถึงการสูญเสียรายได้ เพราะจะเป็นข้อจำกัดการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ฉะนั้นต้องดูให้สมดุลระหว่างรายได้ และรายจ่ายของปีงบประมาณด้วย ซึ่งการพยุงราคาน้ำมัน  มีทั้งมาตรการภาษี และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะเข้าไปช่วย และเชื่อว่าปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้น เป็นเพียงปัญหาระยะสั้น”

นายอาคม กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปี 2565 เพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)​มีอัตราการขยายตัวตามเป้าหมาย 4 % นั้น จะต้องดำเนินการผ่าน 7 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ผ่าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมไว้เป็นอย่างดีแล้ว 

3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรัฐบาล ได้ปรับนโยบายสู่ยานยนต์ไฟฟ้า มีการปรับโครงสร้างภาษีทั้งสรรพสามิตและศุลกากรเพื่อจูงใจให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และจูงใจให้มีการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ   4. ด้านสุขภาพ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย โดยมีการเชื่อมธุรกิจโรงพยาบาล การท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ 5. ภาคการเงิน ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสถาบันการเงินและภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพราะโลกยุคใหม่ จะมีการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง และ แบบเพียร์ทูเพียร์ ดยไม่ผ่านคนกลางเหมือนกับการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ 

6. การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน SME และ สตาร์อัพของไทย หรือ Venture Capital ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่เข้าไปหล่อเลี้ยงทำให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจของสตาร์ทอัพได้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้การสตาร์ทอัพโดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล และส่งเสริม Venture Capital ทั้งไทยและต่างชาติ

และ 7. ความยั่งยืนทางการคลัง และการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทย ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว และมีทิศทางที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลก ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของไทยจะต้องสอดประสานกัน และการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องมั่นใจแล้วว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องฟื้นตัวอย่างเต็มที่  ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)พิจารณาด้วยความรอบคอบ