อัพเดท “รถไฟฟ้า” หลากสีสัน ผ่านมา5ปีสร้างไปถึงไหนแล้วบ้าง…

ผลอเพียงแป้บเดียวก็สิ้นสุดการบริหารประเทศของรัฐบาลบิ๊กตู่ 1ไปแล้ว ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าผลงานก็มี  ผลเสียก็เยอะ แต่ถ้าเลือกมองผลงานที่โดดเด่น หนึ่งในนั้นต้องโฟกัสไปที่ “กระทรวงคมนาคม” ในการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้หลายโครงการ 

โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าหลากสี ความฝันของคนในเมืองหลวงและปริมณฑลที่ต้องแลกมากับการรถติด สามารถเดินตอกเสาเข็มให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มากกว่ารัฐบาลยุคไหนๆ  ดังนั้นจึงขอพาไปอัพเดท หลังหมดเทอมบิ๊กตู่ 1 กันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ มีสายไหนคืบหน้าไปแล้วบ้าง 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ 

เริ่มที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครชั้นใน (ฝั่งพระนคร) กับฝั่งธนบุรี ระยะทาง 27 กิโลเมตร  สายนี้แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 16 กิโลเมตร  11 สถานี เริ่มเส้นทางวิ่งใต้ดินเชื่อมต่อกับสถานีหัวลำโพงของรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที 4 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ จากนั้นวิ่งยกระดับไปถึงบางแค 7 สถานี ได้แก่ สถานีท่าพระ สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีบางแค และสถานีหลักสอง 

ส่วนอีกช่วงเตาปูน – ท่าพระ เชื่อมต่อจากสถานีเตาปูนไปท่าพระ สร้างแบบยกระดับทั้งหมด ระยะทาง 11 กิโลเมตร  8 สถานี ได้แก่ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 ซึ่งสถานะปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาทั้ง 2 ช่วงเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว 

โดยความคืบหน้าขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าซึ่งเสร็จไปแล้ว 83.19%  กำหนดทยอยเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง – บางแค ได้ก่อนในเดือนก.ย.62 และช่วงเตาปูน – ท่าพระ เปิดให้บริการภายหลังในเดือนมี.ค.63

สถานีมังกร รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
สถานีสามยอด
สถานีสนามไชย
สถานีอิสรภาพ

โครงการรถไฟฟ้าไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต 

ต่อมาเป็นโครงการรถไฟฟ้าไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต  ระยะทาง 19 กิโลเมตร 16 สถานี มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ยาวต่อเนื่องตามแนวพหลโยธินไปสิ้นสุดที่บริเวณคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยสถานะโครงการปัจจุบัน รฟม. ก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว 100% และกำลังติดตั้งระบบรถไฟฟ้าอยู่ คาดว่าจะเปิดให้บริการเสร็จเร็วกว่าแผน เดิมกำหนดปี 64 

ล่าสุดจะทยอยเปิดให้บริการระยะแรกถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว 1 สถานีในเดือนส.ค.นี้แล้ว จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในเดือนธ.ค.62 และเปิดได้ครบทั้ง 16 สถานี ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ สถานีศรีปทุม สถานีกรมทหารราบที่ 11 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีพหลโยธิน 59 สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต ภายในปี 63 ยุติปัญหารถติดบนถนนพหลโยธินได้อย่างถาวร 

รถไฟฟ้าสายสีสมพู

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี  ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร  30 สถานี เริ่มตั้งแต่ถนนแคราย ผ่านติวานนท์ เลี้ยวผ่านแจ้งวัฒนะ ข้ามไปรามอินทรา ก่อนสิ้นสุดที่มีนบุรี โดยก่อสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้าเล็กๆ แบบรางเดี่ยว หรือโมโนเรล โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายความหนาแน่นการจราจรในเมืองไปชานเมืองฝั่งตะวันออก 

ซึ่งสถานะโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 ด้านการออกแบบและก่อสร้างโยธา งานผลิต จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีความก้าวหน้างานโยธาก่อสร้างไปแล้ว 38.20% ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าก้าวหน้า 26.85%  และตามแผนงานกำหนดเปิดให้บริการได้ปี 2564 ดังนั้นในช่วง 2 ปีนี้ คนละแวกย่านนั้นต้องทำใจทนรถติดมหาโหดไปอย่างน้อยอีก 2 ปี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง  มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้า 23 สถานี โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรลแบบยกระดับเช่นกันสายสีชมพู มีแนวเส้นทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนระบบหลักรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าว เลี้ยวเข้าศรีนครินทร์ และไปสิ้นสุดที่สำโรง สมุทรปราการ  

สำหรับสถานะโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงานระยะที่ 1 ด้านงานออกแบบและก่อสร้างโยธา งานผลิต จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา ไล่เลี่ยกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู อยู่ที่ 37.85%  และงานระบบรถไฟฟ้าก้าวหน้า 27.78%  ซึ่งตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2564 เช่นกัน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางใหญ่  ระยะทาง 22.57 กม. ประกอบด้วย 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี จุดเริ่มต้นโครงการและเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นผ่านสถานี รฟม.  วัดพระราม 9  รามคำแหง 12  รามคำแหง  กกท.  หัวหมาก ลำสาลี ศรีบูรพา คลองบ้านม้า และยกระดับสถานีขึ้น 7 สถานี จากสถานีสัมมากร  น้อมเกล้า  ราษฎร์พัฒนา มีนพัฒนา เคหะรามคำแหง มีนบุรี และสิ้นสุดโครงการที่สุวินทวงศ์

สำหรับสถานะโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโยธา มีความก้าวหน้า 39.29% ส่วนงานระบบรถไฟฟ้ากำลังนำเสนอขออนุมัติจาก ครม. โดยตามแผนงานกำหนดเปิดให้บริการได้ปี 66 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่เติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รฟม. ยังมีแผนเดินหน้าโครงการส่วนต่อขยายเพิ่มเติมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ระยะทางอีก 13.4 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินตลอดสาย  11 สถานี ประกอบด้วย บางขุนนนท์ ศิริราช สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลานหลวง ยมราช ราชเทวี ประตูน้ำ ราชปรารภ ดินแดง ประชาสงเคราะห์   ซึ่งสถานะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติเช่นกัน คาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มได้ปลายปี 63 และเปิดให้บริการได้ยาวๆ ไปปี 69

รถไฟฟ้่สายสีส้ม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ที่บริเวณสถานีเตาปูน และมีเส้นทางสิ้นสุดบริเวณครุใน ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี สถานียกระดับ 7 สถานี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กำลังถูกขับเคลื่อนเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการเห็นชอบจากมติ ครม.แล้ว อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา มีกำหนดเปิดให้บริการได้ภายในปี 69

โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ขึ้นไปทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ไปดูโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีแนวเส้นทางเชื่อมโยงตอนเหนือ-ใต้ของกรุงเทพมหานครตามแนวเส้นรถไฟเดิม ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการเป็น 2 ช่วง  ช่วงแรกบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีการก่อสร้างรางใหม่ 2 ราง ระยะทางรวม 15 กม. จำนวน 3 สถานี ปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาเสร็จนานแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งจะเสร็จปีหน้า 

อีกช่วงบางซื่อ-รังสิต ก่อสร้างรางใหม่ 4 ราง ระยะทาง 26.3 กม. มี 10 สถานี ปัจจุบันงานก่อสร้างสัญญาแรกของสถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร และศูนย์ซ่อมบำรุงเสร็จแล้ว 91.49% ส่วนการก่อสร้าง 8 สถานีที่เหลือในสัญญา 2 สร้างได้แล้ว 99.73% ขณะที่งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลติดตั้งไปได้ 51% และทั้งหมดจะเสร็จได้ปีหน้า แต่กว่าจะเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้เต็มรูปแบบก็ต้องรอไปถึงต้นปี 64 ทีเดียว 

ส่วนแผนการทำโครงการส่วนต่อขยายจากรังสิต-ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ปัจจุบันได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อจ้างที่ปรึกษาโครงการ และเปิดประมูลต่อไป ส่วนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ –  พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก  และสายสีแดงเข้ม  ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ยังต้องรออีกระยะเพราะเพิ่งอยู่ช่วงกระทรวงคมนาคมปรับแบบอยู่

เหล่านี้ก็เป็นภาพผลงานโครงการรถไฟฟ้าหลากสีที่รัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ได้ทำขึ้น ซึ่งบ้านใคร หรือที่ทำงานใครอยู่ใกล้แถวไหนก็เตรียมตัวไปใช้บริการเพราะหลายเส้นทางใกล้เปิดให้ใช้แล้ว 

แต่สิ่งที่ต้องตามลุ้นกันต่อไม่แพ้กันหลังสร้างเสร็จ การคิดค่าโดยสารเท่าไรจะเป็นเท่าไร เพราะตอนนี้หลายคนบ่นอุบว่ารถไฟฟ้าของเมืองไทยราคาแพงเหลือเกิน ก็ฝากฝังรัฐบาลชุดใหม่ช่วยพิจารณาค่าโดยสารดูแลชาวบ้านกันด้วย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย