อสมท. ชนะประมูลคลื่นความถี่วิทยุมากสุด 47 คลื่น

  • กสทช. ปลื้มประมูลคลื่นวิทยุ FM ครั้งแรก
  • ทำรายได้ 710 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 77%
  • เปลี่ยนระบบสัปมทานสู่ใบอนุญาต

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากที่กสทช.ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม(FM) สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่กระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาต โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 คลื่นความถี่ ภาคใต้ 20 คลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลคลื่นสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 55 คลื่น, บริษัท ลูกทุ่ง เน็ตเวิร์ก 24 ชั่วโมง 45 คลื่น และบริษัทเจ เอส ไนน์ตี้ วัน 9 คลื่น

ทั้งนี้จากเดิมสำนักงาน กสทช.กำหนดให้ต้องคืนคลื่นวิทยุในปี 2560 แต่ในปี 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยืดเวลาออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 เม.ย. 2565 และต้องส่งคืนให้กับ กสทช.เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ โดย กสทช.นำคลื่นความถี่วิทยุที่เจ้าของเดิมคืนมาจัดการประมูลใหม่ จำนวน 73 คลื่น แต่มีผู้ไม่ประมูล 2 คลื่น จึงเหลือที่นำมาจัดสรรรวม 71 คลื่น 

ส่วนราคาเริ่มต้นของการประมูลกำหนดไว้ที่ 389 ล้านบาท ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น พบว่าราคาประมูลเพิ่มขึ้น 77% หรือ 710 กว่าล้านบาท โดยผู้ที่ประมูลคลื่นวิทยุได้มากที่สุดคือ อสมท เสนอราคาชนะการประมูลได้ไปทั้งหมด 47 คลื่น ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง 13 คลื่น ,JS91 จำนวน 3 คลื่นความถี่, ดินดิน จำกัด 2 คลื่นความถี่, นานาเอ็นเตอร์เทนท์เมนท์ 2 คลื่นความถี่ ,จีเอ็มเอ็มมีเดีย 1 คลื่นความถี่ ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุภัคพรกรุ๊ป 1 คลื่น, พีระยามีเดียกรุ๊ป 1 คลื่น ,สตูดิไลน์เอเจนซี่ 1 คลื่น

“แม้การประมูลจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการรับรองผลการประมูล โดยเร็วๆนี้จะมีการเรียกประชุมบอร์ดกสทช.นัดพิเศษ เพื่อรับรองผลการประมูล และประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลต่อไป โดยผู้ชนะการประมูลจะสามารถถ่ายทอดสัญญาณ ได้ต่อไปภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป”

พ.อ.นที กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้ผู้ชนะการประมูลที่ชำระค่าธรรมเนียมรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการได้ยาวนานถึง 7 ปี ขณะเดียวกัน เงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป